เรื่องเล่ากำเนิดวิทยุไทย

กำเนิดวิทยุไทย

ตึกไปรษณียาคาร
ตึกไปรษณียาคาร ที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกของเทศไทย เป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุ 1 ป.ร. กรมไปรษณีย์โทรเลข ปัจจุบันถูกรื้อแล้วเพื่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
          เมื่อ พ.ศ. 2447 ในรัชกาลที่ 5 ห้าง บี กริมม์ แอนด์ โก ผู้แทนบริษัทวิทยุโทรทัศน์และ "เทเลฟุงเกน" ประเทศเยอรมนี ได้นำวิทยุขนาดเล็กชนิดไฟสปาร์กเข้าทดลองให้รัฐบาลดูสองเครื่อง โดยตั้งสถานีวิทยุทดลองขึ้นที่เกาะสีชังเครื่องหนึ่ง และที่กรุงเทพฯ ตั้งที่ภูเขาทองเครื่องหนึ่ง นับเป็นครั้งแรกที่วิทยุเข้ามาเมืองไทย
          ต่อมา พ.ศ. 2450 กระทรวงกลาโหมเริ่มใช้เครื่องวิทยุสนามในราชการทหารเรือและทหารบก โดยใช้วิทยุโทรเลขแบบมาร์โคนี และใน พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงทหารเรือได้สร้างสถานีวิทยุโทรเลขแห่งแรกของประเทศไทยที่ตำบลศาลาแดง เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2456 (วันกำเนิดวิทยุในประเทศไทย) ได้ทรงส่งพระราชโทรเลขทางวิทยุโทรเลขไปยังสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งอุปราชปักษ์ใต้ ณ สถานีวิทยุโทรเลขสงขลาเป็นฉบับปฐมฤกษ์ มีข้อความว่า
          Greeting to you on this, which will be one of the most important day in our history.
          กิจการวิทยุของทางราชการได้เจริญก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ จนถึง พ.ศ. 2470 กรมไปรษณีย์โทรเลขจึงรับหน้าที่จัดการสื่อสารวิทยุทั้งหมด และได้ทดลองทำการส่งกระจายเสียงด้วยเครื่องทำเองขนาดเล็กอยู่หลายปี จนถึง พ.ศ. 2473 จึงได้ดำริให้เปิดการกระจายเสียงจริง ๆ ขึ้น โดยตั้งเครื่องที่โฮเต็ลพญาไท ในการนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรัสเปิดสถานี โดยถ่ายทอดกระแสพระราชดำรังจากพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย และต่อมาพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ได้ทรงเปิดสถานีวิทยุกระจายเสียงประจำวัน ที่สถานีวิทยุกรุงเทพฯ พญาไท เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473
ที่มา: หนังสือ 100 รอยอดีต โดย ส. พลายน้อย สำนักพิมพ์สารคดี พ.ศ. 2545