เรื่องเล่าแม่นาคพระโขนง

แม่นากพระโขนง

เรื่องจริงหรือนิยาย

แม่นาค
ป้ายโฆษณาละครเรื่องแม่นาคพระโขนง

               ถ้าถามว่าเรื่องผียอดฮิตของไทย "แม่นากพระโขนง" (ปัจจุบัน นิยมเขียนเป็น "นาค" แต่ที่จริงแล้ว ต้องเขียน "นาก" เพราะในสมัยรัชกาลที่ 3 ยังไม่ใช้นามสกุล และนิยมเขียนชื่อแบบไทย ๆ  ยังไม่นิยมเขียนแบบบาลีในสมัยปัจจุบัน "นาค" เป็นภาษาบาลี "นาก" เป็นภาษาไทย) เป็นเรื่องจริง หรือเรื่องนิยายที่แต่งขึ้นกันแน่  คำตอบก็คือ เป็นเรื่องจริง ไม่อิงนิยาย และเรื่องนิยาย ที่อิงเรื่องจริง

                 เรื่องราวของแม่นากพระโขนง เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3  ซึ่งครองราชย์อยู่ระหว่าง  พ.ศ. 2367 - 2394 ไม่ต่ำกว่า 150 ปีมาแล้ว  คงจะหาใครทีรู้เห็น หรือคนที่ได้ฟังจากปากคนรู้เห็น มายืนยันเรื่องนี้ไม่ได้แน่
              แต่ในปี พ.ศ. 2441  ซึ่งใกล้ยุคสมัยของแม่นากเข้าไปอีก 100 ปี ได้มีคนเขียนจดหมาย ไปถามหนังสือพิมพ์ "สยามประเภท" และนายกุหลาบ  ตฤษณานนท์ หรือ "ก.ศ.ร. กุหลาย" บก. คนดังของยุคนั้น ได้ตอบไว้ในฉบับวันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม ร.ศ. 118 (พ.ศ. 2443) มีเหตุผลที่น่าชื่อถือได้ โดยคนอ่านได้เขียนเป็นโคลงสี่สุภาพมาถามว่า



  ขอถามกุหลาบเก้า
เมธา  หน่อยพ่อ
เป็นเรื่องโบราณมา
กล่าวแสร้
เท็จจริงพ่อสามารถตอบ
ได้แน่
เพราะเรื่องเก่าแก่แท้
เล่ารู้  ระบือเมือง
       นางนากปีศาจนั้น
เป็นไฉน หนะพ่อ
หรือว่ากล่าวลวงไถล
หลอกล้อ
แต่ไม่ค่อยใกล้ไกล
เพียงพระ  โขนงนอ
เท็จจริงอธิบายข้อ
นั่นนั้น  อย่างไร
     ความลือความเล่าครั้ง
โบราณมา
อาจช่วยผัวทำนา
ก็ได้
เพราะว่าปีศาจสา-
มารถดุ  นักแฮ
รู้แน่คงตอบให้
ค่อยรู้  ราวความ
     ปราชญ์แท้ ณ รอบรู้
แน่นา
หรือว่าสิ้นปัญญา
หมดตู้
แต่เชื่อว่าครูบา
คงตอบได้นอ
แม้ไม่รู้อย่ารู้
ตอบให้เห็นจริง

             นายกุหลาบ ได้ตอบโคลงถามเรื่องนี้ว่า  คำตอบเรื่องอำแดงนากพระโขนง
     จะเป็นวันเดือนปีใดจำไม่ได้  เป็นคำพระศรีสมโภช (บุด) วัดสุวรรณ เล่าถวายสมเด็จอุปัชฌาย์ ในรัชกาลที่ 3 กรุงเทพฯ อำแดงนาก บุตรขุนศรี นายอำเภอ บ้านอยู่ปากคลองพระโขนง เป็นภรรยานายชม ตัวโขนทศกรรฐ์ (คือเป็นตัวแสดงโขน แสดงเป็นทศกรรฐ์) ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี อำแดงนากมีครรภ์คลอดบุตรถึงอนิจกรรม นายชุ่ม ทศกรรฐ์ สามี นำศพอำแดงนาก ภรรยา ไปฝังที่ป่าช้าวัดมหาบุด  วัดมหาบุดนี้ (ปัจจุบันนิยมเขียน "วัดมหาบุศย์) พระศรีสมโภช (บุด) วัดสุวรรณ เป็นผู้สร้าง ในสมัยที่ท่านยังเป็นพระมหาบุด ในรัชกาลที่ 2 ศพอำแดงนากฝังไว้ที่นั่น ไม่มีปีศาจหลอกผู้ใด เป็นแต่พระศรีสมโภชเจ้าของวัดมหาบุด เล่าถวาย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสว่า นายชุ่ม ทศกรรฐ์เป็นคนมั่งมี เป็นตาน้อยของนายสน เศรษฐีบุตรนายชุ่ม มีชายหญิงหลายคน แต่ล้วนยังไม่มีสามีภรรยาทั้งสิ้น บุตรนายชุ่มหวงทรัพย์สมบัติของบิดา เกรงว่าบิดาจะมีภรรยาใหม่ จะกระจายทรัยพ์เสียหมด พวกลูกจะอดตาย พวกลูกชาย จึงทำอุบายใช้คนไปขว้างปาชาวเรือตามลำคลอง ริมป่าช้า ที่ฝังศพ อำแดงนากมารดา กระทำกิริยาเป็นผีดุร้ายหลอกคน  จนถึงช่วยนายชุ่มถีบระหัดน้ำเข้านา และวิดน้ำ กู้เรือของนายชุ่มที่ล่มก็ได้  บุตรชายแต่งกายเป็นหญิง ให้คล้ายอำแดงนากมารดา ทำกิริยาเป็นผีดุร้ายให้คนกลัวทั้งลำคลองพระโขนง เพื่อประโยชน์จะกันไม่ให้ผู้หญิงอื่น มาเป็นภรรยาของนายชุ่มบิดาของตนเอง
     พระศรีสมโภชผู้สร้างวัดมหาบุด เล่าถวายสมเด็จอุปัชฌาย์เท่านี้  บุตรนายชุ่ม ทศกรรฐ์ หลายคน ได้เล่าถวายสมเด็จพระอุปัชฌาย์ว่า ตนได้ทำมารยาเป็นปีศาจอำแดงนากมารดา หลอกชาวบ้านจริง ดังพระศรีสมโภชกราบทูลสมเด็จอุปัชฌาย์ทุกประการ ความวิตถารนอกจากนี้ไม่ทราบถนัด  ได้ทราบชัดแต่ว่า บุตรนายชุ่ม ทศกรรฐ์ ชื่อนายแบน บวชเป็นพระสมุห์ของสมเด็จอุปัชฌาย์ พระสมุห์แบนผู้นี้ ที่ผูกคอตายที่ถาน (ฐาน) วัีดพระเชตุพนเดี๋ยวนี้


นางนาก
ภาพยนตร์เรื่องนางนาก

          สรุปว่า เรื่องแม่นาก เป็นเรื่องจริง มีตัวตนจริง แต่ไม่ได้เป็นปีศาจ หลอกใคร คนที่หลอกนั้น ก็คือลูก ๆ  ของแม่นาก ที่หลอก ก็เพื่อไม่ให้ผู้หญิงอื่นกล้ามาเป็นเมียใหม่พ่อ เพราะตัวโขนทศกรรฐ์ ในวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทักษ์มนตรีนั้น ก็คงจะเนื้อหอมไม่เบา ขืนให้พ่อมีเมียใหม่ สมบัติของพ่อ ก็ต้องตกไปเป็นของเมียใหม่ด้วย ดีไม่ดีพ่อเกิดไปหลงเมียใหม่เข้า ลูก ๆ  ก็คงอดหัวโตกันเป็นแถว
            นี่คือส่วนที่เป็นเรื่องจริงไม่อิงนิยายของแม่นาก เพราะคนที่เล่า ก็คือพระศรีสมโภช ผู้สร้างวัดมหาบุดที่ฝังแม่นาก และเล่าถวาย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่ของบ้านเมือง คงไม่เอาเรื่องไม่จริง ไปเล่าถวายแน่
            เมื่อมีคนเชื่อกันว่า แม่นากเป็นปีศาจดุร้าย จึงร่ำลือกันไป ในที่สุดก็มีคนนำไปเขียนพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือ แต่งระบายสีให้สนุกสนานยิ่งขึ้นเป็นนิยาย  โดยอิงพื้นฐาน จากเรื่องจริงของแม่นากที่ออกลูกตายเท่านั้น จะสังเกตเห็นว่า สามีของแม่นากในนิยายชื่อว่า นายมาก ไม่ใช่ชื่อนายชุ่ม ตามเรื่งอจริง มีคนติดเรื่องนี้กันมาก คณะละครปรีดาลัยที่โด่งดัง ในสมัย ร. 5 ก็นไปแสดงเป็นละครร้องในชื่อ "อีนากพระโขนง" มีคนดูกันแน่นโรง
            พอมาึถึงยุคหนังไทย ก็มีคนนำเรื่องแม่นาก ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ทั้ง 16 มม. และ 35 มม. และดัดแปลง ต่อเติมเรื่องออกไป มีทั้ง "แม่นากคืนชีพ" "แม่นากพระนคร" แม้แต่หนังไทยยุคพัฒนาของคนรุ่นใหม่ก็ได้นำแม่นากพระโขนง มาสร้างอีกเมื่อเร็ว ๆ  นี้ แต่ก็น่าแปลกใจเรื่องของแม่นาก ที่นำมาสร้างหลายต่อหลายครั้ง แทนที่จะเป็นเรื่องซ้ำซาก น่าเบื่อหน่าย แม่นากพระโขนง ทั้งหนังสือ ละคร และหนัง ไม่ว่า 16 มม. หรือ 35 มม. ก็โกยเงินทุกครั้ง ผู้สร้างแม่นากพระโขนง ไม่เคยผิดหวังเลยแม้ตแ่รายเดียว รวยไปทุกครั้ง เชื่อว่าอีกไม่นาน แม่นากพระโขนงก็คงมาออกโรงหรือออกจอทีวีอีกเป็นแน่ ล่าสุด สร้างเป็น "นางนาก" โดยมีทราย  เจริญปุระ เป็นแม่นาก และ วินัย  ไกรบุตร เป็นนายมาก
          เมื่อมีการนำแม่นากที่เป็นนิยายมาตอกย้ำ ซ้ำยังยืนยันว่า เป็นเรื่องจริง แม่นากก็เลยมีตัวตนขึ้นมาจริง ๆ  เหมือนเรื่อง "ขุนช้าง ขุนแผน"
           ม.ร.ว. คึกฤทธิ์  ปราโมช ก็เคยเล่าเรื่องแม่นากไว้ว่า เมื่อตอนอายุ ประมาณ 10 ขวบ ผู้ใหญ่ได้พาไปที่วัดมหาบุศย์ พระโขนง ขึ้นบนศาลาการเปรียญหลังใหม่ ฝ้าเพดานฉาบปูนไว้ใหม่ ๆ ขาวสะอาด มีรอยเท้าเปื้อนโคลนย่ำไว้หลายรอย สมภารชี้ให้ดู บอกว่าเป็นแม่นากมาเดินห้อยหัวย่ำไว้
     แม่นากคงไม่ไร้มารยาทขนาดนั้น ขึ้นไปย่ำศาลาใหม่ของวัด ให้เปรอะเปื้อนสกปรก ไม่รู้ว่าเป็นจิตรกรรมฝ้าเพดานของใครกันแน่
           วัดมหาบุศย์ทุกวันนี้ ก็ยังอบอวลไปด้วยบรรยากาศของแม่นาก แต่เรื่องที่เล่ากล่าวขานกัน แม่นากไม่ใช่ปีศาจที่ดุร้าย น่าสยองขวัญ อย่างก่อนแล้ว แต่เป็นวิญญาณที่มีเมตตาน่าเคารพกราบไหว้ ให้เลขเด็ดแก้จนไปหลายราย (ตามธรรมดาของคนไทย) หลักฐานที่ยืนยันก็คือคนที่ได้ลาภจากแม่นาก ได้ซื้อของฝาก มาทดแทนบุญคุณของแม่นากจนแน่นศาลา ไม่ว่าจะเป็นชุดไทย ชุดราตรีให้แม่นากใส่ หรือแม้แต่ทีวีที่เปิดให้แม่นากดูทั้งวัน (แล้วแต่คนจะคิดนึกเอาเองว่าแม่นากชอบ)

           แม่นากพระโขนง จึงเป็นยอดผีอมตะของไทย ที่ยืนยงมาไม่ต่ำกว่า 150 ปีแล้ว ทุกวันนี้ก็ยังมีคนไปกราบไหว้ แม่นากที่วัดมหาบุึศย์ไม่ขาดสาย และจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป ตราบเท่าที่คนไทยยังหลงงมงาย และนิยมเล่นหวย  ส่วนความดุร้าย น่ากลัวของแม่นากอย่างแต่ก่อนนั้น ขอโทษที ลืมกันหมดแล้ว...

ศาลแม่นาค
ศาลแม่นาคพระโขนง ในวัดมหาบุศย์ ซอยสุขุมวิท 77 (ถนนอ่อนนุช) ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตสวนหลวงมิใช่เขตพระโขน
(ภารและคำบรรยาย จากวิกิพีเดีย สารานุกรานุกรมเสรี)