เรื่องเล่าตะแลงแกงท่าช้างและวัดโคกพระยา แดนประหารสมัยอยุธยา

เรื่องเล่าตะแลงแกงท่าช้างและวัดโคกพระยา
แดนประหารสมัยอยุธยา

วัดโคกพระยาแดนประหารสมัยอยุธยา
ภาพแผนที่ De GRoote Siamse Rievier ME-NAM ของ Francois Valentijn
เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1726 (พ.ศ. 2269) ตำแหน่งของวัดโคกพระยาอยู่หมายเลข 64

วัดโคกพระยาในการรับรู้เดิม

          วัดโคกพระยาเป็นวัดร้าง ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาทางด้านทิศเหนือใกล้กับวัดภูเขาทอง ในตำบลคลองสระบัว อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันกรมศิลปากรกำหนดให้วัดนี้เป็นโบราณสถานร้างหมายเลข 99 ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และกำหนดเขตที่ดินไว้ 2 ไร่ 2 งาน 56 ตารางวา ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 97 ตอนที่ 163 เมื่อวันที่ 21  ตุลาคม พ.ศ. 2523
          บริเวณภูเขาทองมีสภาพเป็นท้องทุ่งขนาดใหญ่ มีอาณาเขตติดต่อกับทุ่งอื่น ๆ เช่น ทุ่งแก้ว ทุ่งขวัญ ทุ่งมะขาหย่อง มีคลองมหานาคอันคดเคี้ยวไหลผ่าน ซึ่งพระราชพวงศาวดารกรุงศรีอยุธยาหลายฉบับกล่าวตรงกันว่า คลองมหานาคนี้ขุดขึ้นโดยพระมหานาคแห่งวัดภูเขาทอง เพื่อรับศึกพม่าในปี พ.ศ. 2086 ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ความว่า
          "ฝ่ายมหานาคบวชอยู่วัดภูเขาทอง สึกออกรับตั้งค่ายกันทัพเรือ ตั้งค่ายแต่ภูเขาทองลงมาจนวัดป่าพลู พรรคพวกสมกำลังญาติโยมทั้งทาสหญิงชายของมหานาคช่วยกันขุดคูค่ายกันทัพเรือ จึงเรียกว่า "คลองมหานาค""
     (ประชุมพงศาวดารเล่ม 37, 2512, หน้า 52)
          วัดโคกพระยาตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเจดีย์ภูเขาทอง ประมาณ 400 เมตร เท่าที่ตรวจสอบหลักฐานเอกสารและคำบอกเล่าจากชาวบ้านที่อาศัยบริเวณวัดแห่งนี้กล่าวว่า แต่เดิมวัดโคกพระยามีน้ำล้อมรอบคล้ายเกาะเล็ก ๆ มีสระน้ำขนาดย่อมตั้งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเกาะ จำนวน 1 สระ และเคยพบท่อนไม้จันทน์ ไม้ตะเคียนจำนวนมากในสระน้ำ ซึ่งยังคงเหลือให้เห็น 2-3 ต้นในเวลานี้  ชาวบ้านเชื่อว่าบริเวณนี้คือที่ประหารชีวิตกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ของอยุธยาอย่างไม่ต้องสงสัย
วัดโคกพระยา
         เมื่อสำรวจวัดโคกพระยาโดยละเอียดพบว่า วัดนี้มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีคูน้ำที่เชื่อมต่อกับคลองมหานาคทางด้านทิศใต้ ส่วนทิศเหนือ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกจรดที่นาของชาวบ้าน
          อย่างไรก็ดี พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทหุมาศ (เจิม) ได้กล่าวถึงตำแหน่งที่ตั้งของวัดโคกพระยาแห่งนี้ ในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิไว้ว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า เสด็จยืนพระคชาธารประมวลพลและคชพยุห โดยกระบวนตั้งอยู่โคกพระยา (ประชุมพงศาวดารเล่ม 37, 2512, น. 55) จากข้อมูลที่ปรากฏในพงศาวดารได้แสดงให้เห็นถึงที่ตั้งของวัดโคกพระยาว่า ตั้งอยู่บริเวณภูเขาทอง นอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา เพราะในเวลานั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จออกไปทอดพระเนตรแนวรบข้าศึก และได้มีการต่อสู้กันกับทัพพระเจ้าแปร จนฝ่ายไทยต้องเสียสมเด็จพระสุริโยทัยไป 
          ข้อความข้างต้นที่ปรากฏในพงศาวดารจึงเป็นข้อมูลที่นักประวัติศาสตร์ในอดีตเข้าใจกันและนำมาใช้ตีความร่วมกับข้อความในพงศาวดารตอนอื่น ๆ อีกหลายตอน ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปว่า สถานที่นำตัวกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์มาประหารชีวิตด้วยท่อนจันทน์คือบริเวณวัดโคกพระยา หรือโคกพระยา นอกเมืองใกล้กับวัดภูเขาทองนั่นเอง

3 แดนประหารสมัยอยุธยา

          นอกจากวัดโคกพระยาที่ประหารนักโทษอาญาและนักโทษการเมืองสมัยอยุธยาแล้ว ยังมีสถานที่สำคัญอีกสองแห่งใช้สำหรับประหารนักโทษแบบตัดหัว ควักไส้และประหารชีวิตด้วยวิธีการที่เหี้ยมโหด ดังที่ปรากฏอยู่ในหลักฐานไทยและหลักฐานชาวต่างประเทศหลายฉบับ สถานที่แห่งนั่นก็คือ ตะแลงแกง ตั้งอยู่ใกล้กับคุกหลวง หอกลอง วัดพระราม และท่าช้าง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำลพบุรี (คลองเมือง) ใกล้กับวัดคงคาราม
วัดโคกพระยา
วัดโคกพระยา (ร้าง) ตั้งอยู่หลังวัดหัสดาวาส ใกล้วัดหน้าพระเมรุ อยุธยา
          ทั้งตะแลงแกงและท่าช้างเป็นสถานที่ประหารชีวิตแบบประจาน ชาวบ้านชาวเมืองสามารถมาดูการประหารชีวิตได้ ส่วนวัดโคกพระยานั้นเข้าใจว่าเป็นที่กระทำเฉพาะฝ่ายใน ไม่อนุญาตให้ประชาชนคนธรรมดาไปรู้ไปเห็น
          คำให้การขุนหลวงประดู่ทรงธรรม เอกสารหอหลวง ได้กล่าวถึงตะแลงแกงว่า เป็นบริเวณที่มีความสำคัญ ความว่า ถนนย่านตะแลงแกงมีร้านขายของสดเช้าเย็น ชื่อตลาดคุกหลวง 1 ถนนน่าย่านศาลพระกาฬมีร้านชำขายศีศะในโครงในฝ้าย ชื่อตลาดศาลพระกาฬ 1...(คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารหอหลวง, 2534, น. 12)
          ตำแหน่งที่ตั้งของตะแลงแกงอยู่ตรงบริเวณที่เป็นจัตุรัสชุมนุมคนมี ทั้งตลาดขายสินค้านานาชนิด มีร้านค้าปลูกอยู่สองฟากฝั่งถนน มีโรงม้า มีคุกหลวง หอกลอง (คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงะรรม เอกสารหอหลวง, 2534, น. 15) ย่านตะแลงแกงจึงเป็นย่านที่เต็มไปด้วยผู้คนจำนวนมาก รวมทั้งถนนที่ตัดผ่านบริเวณตะแลงแกง เป็นถนนปูอิฐ และได้ชื่อว่าถนนตะแลงแกงด้วย (ถนนป่าโทน) ถนนสายนี้เป็นที่ถนนที่ดีที่สุดของประเทศสยาม ด้วยเหตุนี้การประหารชีวิตนักโทษที่ตะแลงแกงในแต่ละครั้ง คงจะมีประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนไม่น้อย และอาจเป็นการตัดไม้ข่มนามต่อศัตรูทางการเมืองได้ด้วยวิธีหนึ่ง ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ ได้บรรยายภาพเหตุการณ์ตอนสงครามกลางเมืองระหว่างเจ้าฟ้าปรเมศวร์ เจ้าฟ้าอภัยกับพระมหาอุปราช (พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ก่อนเสวยราชย์) ไว้ว่า
          "ส่วนนายเสมพระยาพิชัยราชาแลนายพูนพระยายมราช คนทั้งสองนี้ ครั้นเจ้าหนีไปแล้ว ก็พากันไปบวชเป็นภิกษุ อยู่ในแขวงเมืองสุพรรณ ข้าหลวงทั้งหลายติดตามไปได้ตัวภิกษุทั้งสองนั้นมา ให้รักษาคุมตัวไว้ในวัดฝาง นายสังราชาบริบาล หนีไปบวชอยู่ในวัดแขวงเมืองบัวชุม ข้าหลวงติดตามไปได้ตัวมา สึกออกแล้ว ให้ประหารชีวิตเสียที่หัวตะแลงแกง"
(พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์, 2515, น. 607)
          ส่วนท่าช้าง ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะเมือง ใกล้วัดคงคาราม (ร้าง) และเป็นท่าน้ำที่สามารถข้ามไปยังวัดโพธิ์ ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะทุ่งแก้วได้อีกด้วย ตรงบริเวณนี้จะมีถนนชื่อถนนกลาโหมตัดตรงมาจากพระบรมมหาราชวังและบึงชีกุน ผ่านหลังวัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ สุดตัวถนนที่ท่าช้าง ในเอกสารของนายเยเรเมียส ฟานฟลีท หรือวัน วลิต ชื่อ Historical Account of Siam In the 17th Century ได้กล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นตรงท่าช้างว่า
          "พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ (พระเชษฐาธิราช) ทรงมีรับสั่งให้นำนักโทษตัวการสำคัญทั้งสามออกมาจากคุกและให้สับออกเป็นท่อน ๆ ที่ท่าช้าง (Thacham) คือทวารหนึ่งของพระราชวังในฐานะที่เป็นผู้รบกวนความสงบสุขของประชาชนและในฐานะที่ร่วมกันต่อต้านผู้สืบราชสมบัติที่แท้จริงและถูกต้องตามกฎหมาย ศีรษะและร่างกายส่วนอื่น ๆ ของคนเหล่านั้นถูกเสียบประจานไว้ในที่สูงในเมืองหลายแห่ง"
(ประชุมพงศาวดารเล่ม 49, 2513, น. 118)
วัดโคกพระยา
ภาพมุมสูงจากเจดีย์ภูเขาทอง ซ้ายมือคือ วัดโคกพระยา
ขวามือคืออนุสรณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่กำลังก่อสร้าง
          นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับท่าช้าง ในรัชกาลสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ ซึ่งในเาลานั้น มีการลงโทษออกญากำแหง ขุนนางคนสำคัญคนหนึ่งของราชสำนัก ดังที่ปรากฏในงานของเยเรเมียส ฟาฟลีท ความว่า
          "ออกญากลาโหมไปเยี่ยมออกญากำแหงในคุก แสร้งทำเป็นประหลาดใจอย่างยิ่งที่ออกญากำแหงถูกถอดและแสดงความฉงนใจมากที่พระเจ้าแผ่นดินกระทำเช่นนี้ ออกญากลาโหมปลอบออกญากำแหงและแนะนำให้อดทนและรับรองว่าออกญากำแหงจะได้พ้นจากที่คุมขังโดยเร็ววัน ออกญากลาโหมชี้แจงว่าการกระทำของพระเจ้าแผ่นดินเป็นไปอย่างเจ้าชายหนุ่มและว่าราษฎรโชคไม่ดีที่อยู่ภายใต้อำนาจกษัตริย์หนุ่มแต่ก็สัญญาว่าจะจัดการเรื่องนี้ให้และให้เป็นธุระของตนและออกญากำแหงจะได้ออกจากคุกในไม่ช้านี้ โดยรับรองว่าจะได้เป็นอิสระไม่พ้นคืนนี้ ออกญากลาโหมไม่เสียคำพูดเพราะประมาณ 2 ชั่วโมงก่อนตะวันตกดิน ออกญากำแหงถูกนำตัวออกจากคุกตรงไปยังประตูท่าช้าง (Sachem) ที่ฝั่งแม่น้ำเพื่อประหารชีวิต...เพชฌฆาตมัดออกญากำแหงติดกับหยวกกล้วย วางให้นอนลงบนพื้นดิน และฟันด้วยดาบโค้งที่สีข้างด้านซ้ายไส้พุงก็ไหลออก การฆ่าออกญากำแหงจบลงด้วยการเอาหวายแทงที่คอ แล้วเสียบประจานไว้บนขาหยั่งทำด้วยไม้ไผ่ลำใหญ่ เพื่อให้เป็นตัวอย่างของผู้ถูกลงโทษในฐานสมรู้ร่วมคิดต่อต้านองค์พระมหากษัตริย์"
(ประชุมพงศาวดารเล่ม 49, 2513, น. 189-190)
          จากข้อความดังกล่าวทำให้เห็นว่า ท่าช้างเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่นำนักโทษไปประหารชีวิตด้วยวิะีการทารุณ ซึ่งหลักฐานของฮอลันดาได้กล่าวไว้อย่างละเอียด นอกจากนี้ยังมีการประหารนักโทษที่เป็นสตรีชั้นสูงอีกด้วย ดังข้อความที่ว่า
          "พระองค์ (พระเจ้าปราสาททอง) ปรารถนาที่จะได้ราชมารดาของพระเจ้าแผ่นดินที่เพิ่งสวรรคต ซึ่งเป็นสตรีที่งามที่สุดคนหนึ่งในอาณาจักรมาเป็นสนม แต่พระนางแสดงความรังเกียจ ทรงปฏิเสธอย่างเด็ดขาดไม่ยอมไปยังพระราชวังตามกระแสรับสั่งที่มีมาถึงพระนาง ในที่สุดเมื่อเห็นว่า พระเจ้าแผ่นดินจะบังคับพระนางโดยพละกำลัง พระนางได้ตรัสว่า 'พระเจ้าแผ่นดินเจ้าชีวิตของฉันไม่มีอีกแล้ว และโอรสของฉันก็สวรรคตแล้วด้วย ฉันก็เหนื่อยหน่ายต่อชีวิต ฉันเห็นว่าไม่มีประโยชน์อันใดที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อทั้งสองพระองค์นั้นอีก แต่ขณะที่ฉันยังมีชีวิตอยู่ ร่างกายของฉันจะต้องอยู่อย่างบริสุทธิ์และจะไม่ยินดีในโจรแย่งราชสมบัติและทรราชย์ผู้นี้อีก' พระเจ้าแผ่นดิน (พระเจ้าปราสาททอง) ทรงกริ้วต่อการปฏิเสธคำตอบที่เผ็ดร้อนและการตำหนิติเตียนอันรุนแรงยิ่งนั้น ถึงกับทรงมีรับสั่งให้คร่าตัวพระนางไปที่ริมฝั่งน้ำ (ท่าช้าง) ให้สับร่างของพระนางออกเป็น 2 ท่อน ร่างส่วนที่มีหัวติดอยู่ให้ตรึงติดกับขาหยั่งไม้ไผ่ อย่างไรก็ตาม เมื่อพระภิกษุสงฆ์กราบทูลขอร้องพระองค์จึงอนุญาตให้ปลดร่างนี้ลงภายหลังที่ประจานอยู่ 2 วันแล้ว...ในกรุงศรีอยุธยามีพี่น้อง 2 สาว ซึ่งเคยรับใช้พระราชมารดาของพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สวรรคตที่แล้ว (พระอาทิตยวงศ์) ในตำแหน่งนางพระกำนับได้นั่งร่ำไห้อยู่ในบ้านของตนเนื่องจากการสิ้นพระชนม์ของพระราชมารดาของพระเจ้าแผ่นดินและพระโอรสของพระนางมีผู้กราบทูลเรื่องนี้ต่อพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ (พระเจ้าปราสาททอง) พระองค์รับสั่งทันทีให้จิกผมนางทั้งสองลากไปยังฝั่งน้ำและให้ผูกเข้ากับหลัก เอาต้นกกรัดรอบคอดึงไว้มิให้เท้าแตะดิน แล้วพระองค์มีรับสั่งให้แหวะร่างออกเป็นสองซีกแล้วใส่เครื่องถ่างปากไว้ นางทั้งสองถูกปล่อยให้ตายในลักษณะเช่นนี้...เมื่อบิดาของหญิงทั้งสองทราบเรื่องที่เกิดขึ้นกับบุตรสาวก็ไปยังที่ประหารชีวิตและแสดงความเศร้าโศกเสียใจ อันเป็นธรรมดาที่ต้องเกิดความรู้สึกเช่นนั้น เมื่อได้เห็นภาพอันน่าสังเวชสยดสยอง เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงทราบเรื่อง ก็มีรับสั่งให้หผ่าชายคนนี้ตลอดตัวแล้วแขวนไว้บนขาหยั่งนั้น ด้วยความเหี้ยมโหดร้ายกาจในการลงพระอาญาเหล่านี้ย่อมปิดปากคนอื่น ๆ ทั้งปวง..."
(ประชุมพงศาวดารเล่ม 49, 2513, น. 210-221)

โบสถ์วัดหน้าพระเมรุ
โบสถ์วัดหน้าเมรุ  อยุธยา
จากบทความ  ตะแลงแกง ทุ่งช้าง และวัดโคกพระยา แดนประหารสมัยอยุธยา
 โดยเทพมนตรี  ลิมปพยอม  นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ 4 พุทธศักราช 25542