เรื่องเล่ากรุงรัตนโกสินทร์

กรุงรัตนโกสินทร์

         บริเวณกรุงเทพมหานครและใกล้เคียง เป็นแผ่นดินใหม่ที่เกิดจากตะกอนของลำน้ำหลายสายที่ไหลมาจากทางเหนือ
         เมื่อหลายพันปีมาแล้ว ขอบเขตของอ่าวไทยอยู่ลึกขึ้นไปถึงบริเวณที่เป็นจังหวัดลพบุรี ส่วนกรุงเทพมหานครรวมทั้งจังหวัดอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงล้วนอยู่ใต้ทะเล
          การทับถมของตะกอนหรือโคลนตมจากลำน้ำสายต่าง ๆ เป็นเวลานานหลายพันปี ทำให้ขอบเขตของอ่าวไทยหดลงเรื่อย ๆ ในที่สุดก็เกิดแผ่นดินใหม่ขึ้นมา
          กรุงศรีอยุธยาเกิดขึ้นบนแผ่นดินใหม่นี้เอง จากนั้นก็เกิดชุมชนหมู่บ้านทางทิศใต้ บนเส้นทางคมนาคมไปออกอ่าวไทย

กรุงเทพในอดีต
แผนที่แสดงกรุงเทพฯ ปทุมธานี อยุธยา ยังอยู่ใต้ทะเล เมื่อราว 5,000 ปีที่แล้ว

บางกอก

          กรุงเทพฯ สืบเนื่องมาจากกรุงธนบุรี ตั้งอยู่บริเวณที่เรียกมาแต่โบราณกาลว่า "บางกอก" ตรงบริเวณที่ลำแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมไหลคดเป็นรูปโค้งเกือกม้า (ดูรูปภาพด้านล่าง)


กรุงเทพในอดีต
แม่น้ำเจ้าพระยาที่ยังไม่ขุดคลองตรงสะพานพระปิ่นเกล้าฯ บริเวณคล้ายเกือกม้าคือบางกอก
          อธิบายตามสภาพปัจจุบันก็คือ เมื่อแม่น้ำเจ้าพระยาไหลจากทิศเหนือผ่านเขตเมืองนนทบุรีลงมาถึงสะพานปิ่นเกล้า ก็ไหลวกไปทางทิศตะวันตก เข้าคลองบางกอกน้อยไปออกคลองบางกอกใหญ่ (หรือคลองบางหลวง) แล้วไหลวกลงทางใต้ไปออกอาวไทย
          สองฟากแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมที่ไหลคดโค้งก็ค่อย ๆ กลายเป็นดอนขึ้นมา เพราะเกิดการทับถมของตะกอนที่พัดมาจากทางเหนือในฤดูน้ำหลากทุก ๆ ปี บริเวณนี้จึงเหมาะสำหรับตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เมื่อมีคนอยู่มากขึ้นก็กลายเป็นชุมชน
          สมัยกรุงศรีอยุธยา บางกอกนี่แหละเป็นย่านพักสินค้าดีที่สุด เพราะเส้นทางที่จะผ่านต่อไปต้องเสียเวลามาก เนื่องจากลักษณะคดโค้งของแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม ยิ่งทำให้ย่านบางกอกทวีความสำคัญมากขึ้น ชุมชนก็ยิ่งขยายใหญ่โตตามไปด้วย

ขุดคลองลัด

         เมื่อการค้าต่างประเทศมีขอบเขตกว้างขวาง สร้างรายได้มหาศาล สมเด็จพระไชยราธิราชจึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ขุดคลองลัดตัดโค้งรูปเกือกม้า เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมตรงที่ปัจจุบันเป็นปากคลองบางกอกน้อยกับคลองบางกอกใหญ่เข้าด้วยกัน เพื่อย่นระยะทางให้สั้นและเสียเวลาน้อยลง สำเภาและสลุป ( เรือ Sloop คือเรือสำเภา 3 เสาขนาดเล็ก) นานาชาติจะได้เข้าออกอย่างสะดวก
          เมื่อขุดคลองลัดแล้ว ทำให้กระแสน้ำปรับเปลี่ยนการไหลตรงไปทางคลองลัด แล้วซัดเซาะตลิ่งสองข้างจนกว้างใหญ่กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาใหม่ คือบริเวณที่ผ่านหน้าโรงพยาบาลศิริราชกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงไปจนถึงหน้าวัดอรุณราชวรารามทุกวันนี้
          แม่น้ำเจ้าพระยาใหม่ทำให้เกิดดินแดนสองฝั่งคือ ฝั่งตะวันตกเป็นที่ดอน กับฝั่งตะวันออกเป็นที่ลุ่มต่ำสลับด้วยหนองบึง ต่อมาก็มีเมืองธนบุรีเกิดขึ้น มีชื่อในเอกสารเก่าว่า "ธนบุรีศรีมหาสมุทร"

          
กรุงเทพในอดีต
แผนที่แม่น้ำเจ้าพระยาช่วงที่ขุดคลองลัด

สร้างกรุงเทพฯ


          เมื่อจัดการบ้านเมืองกรุงธนบุรีที่เกิดความวุ่นวายจนสงบราบคาบแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นปฐมบรมราชจักรีวงศ์ ขณะนั้นยังประทับอยู่ในพระราชวังเดิมกรุงธนบุรีฝั่งตะวันตก
          ต่อจากนั้นก็มีพระบรมราชโองการสั่งให้พระยาธรรมาธิกรณ์ กับ พระยาวิจิตรนาวี เป็นแม่กองสร้างพระมหานครและพระบรมมหาราชวังขึ้นใหม่ตรงริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ตรงข้ามพระราชวังกรุงธนบุรี
          บริเวณนี้ ชาวจีนกับขาวญวนตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา สืบเนื่องถึงสมัยกรุงธนบุรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ชาวจีนทั้งหมดย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่แห่งใหม่ สมัยนั้นเป็นที่สวนตั้งแต่คลองวัดสามปลื้ม จนถึงคลองวัดสามเพ็ง ปัจจุบันก็คือย่านสำเพ็ง  ชุมชนชาวญวนส่วนหนึ่งให้ย้ายไปอยู่นอกกำแพงพระนคร
          การก่อสร้างพระบรมมหาราชวังแห่งใหม่ ในชั้นแรกสร้างพระราชมณเฑียรด้วยเครื่องไม้ และรายรอบพระบรมมหาราชวังด้วยเสาระเนียดเป็นการชั่วคราวก่อน  ปีต่อมา แก้ไขจากเครื่องไม้เป็นกำแพงก่ออิฐถือปูน สร้างป้อมปราการและประตูรอบพระราชวัง พร้อมกันนั้นก็โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างพระอารามขึ้นในพระราชวัง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกต พระราชทานนามว่า "วัดพระศีรัตนศาสดาราม" เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ในพระนครศรีอยุธยา แล้วอัญเชิญพระแก้วมรกตจากวัดอรุณมาประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามจนถึงทุกวันนี้
          งานก่อสร้างพระนครเริ่มจริง ๆ เมื่อ พ.ศ. 2326 พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์จดว่า โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งกองลักเลกไพร่หลวงสมกำลัง และเลกหัวเมืองทั้งปวง แล้วให้เกณฑ์ทำอิฐขึ้นใหม่บ้าง ให้ไปรื้ออิฐกำแพงเมืองกรุงเก่าบ้าง ลงมือก่อสร้างพระนคร ทั้งพระบรมมหาราชวังหรือวังหลวง และพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า
กรุงเทพในอดีต


ขุดคูเมือง

          ให้รื้อป้อมวิชเยนทร์และกำแพงเมืองธนบุรีฟากตะวันออก ตรงที่เรียกว่า "คลองเมืองเดิม" ออก ขยายพระนครให้กว้างออกไปกว่าเก่า ถึงตรงที่เป็นคลองบางลำพูปัจจุบัน
          เกณฑ์เขมรเข้ามาขุดคลองคูพระนครด้านตะวันออก ตั้งแต่วัดบางลำพูหรือวัดสังเวชไปออกแม่น้ำข้างใต้ที่วัดเชิงเลนหรือวัดบพิตรพิมุข แล้วพระราชทานนามว่า "คลองรอบกรุง"
          ขุดคลองเชื่อมคลองรอบกรุงกับคลองคูเมืองเดิม 2 คลองคลองหนึ่งคือคลองข้างวัดราชบพิธ อีกคลองหนึ่งข้างวัดราชนัดดากับวัดเทพธิดา
          ทำสะพานช้างและสะพานน้อยข้ามคลองภายในพระนครหลายตำบล
          ขุดคลองใหญ่เหนือวัดสะแก ปัจจุบันคือวัดสระเกศ พระราชทานนามว่า "คลองมหานาค" เป็นที่สำหรับประชาชนชาวพระนครได้ลงเรือไปประชุมเล่นเพลงและสักวาในเทศกาลฤดูน้ำเหมือนอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา


กรุงเทพในอดีต

 สร้างกำแพงเมือง

          ครั้นขุดคลองและตระเตรียมอิฐปูนกับตัวไม้สำหรับก่อสร้างพระนครพร้อมแล้ว จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เกณฑ์ลาวเมืองเวียงจันทน์ ตลอดจนหัวเมืองลาวริมแม่น้ำโขงฟากตะวันตกที่เป็นแดนอีสานทุกวันนี้ เข้ามาขุดรากก่อกำแพงพระนครและสร้างป้อมเป็นระยะ ๆ รอบพระนคร ปัจจุบันเหลือซากอยู่สองป้อม คือ ป้อมพระสุเมรุกับป้อมมหากาฬ
          นอกจากนั้นยังมีประตูเข้าออกอยู่ระหว่างป้อม เช่น ประตูสามยอด เป็นประตูใหญ่มีสามยอด กับประตูเล็กเรียกประตูช่องกุดเป็นระยะ ๆ แล้วยังมีประตูผีเป็นช่องขนศพจากในเมืองไปเผานอกเมืองด้วย
         ความสำคัญของกรุงเทพฯ สมัยแรก ๆ อยู่ภายในกำแพงพระนคร แกนกลางของราชอาณาจักรอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ บริเวณที่เป็นพระบรมมหาราชวังกับบวรราชวัง
          เมื่อแรกสร้างกรุง ภายในกำแพงด้านทิศตะวันออกยังเป็นเรือกสวนและป่า ครั้นปลายแผ่นดินรัชกาลที่ 1 ทรงทรงชะลอพระศรีศากยมุนีจากวัดมหาธาตุเมืองเก่าสุโขทัยมาประดิษฐาน พระราชดำริเดิมจะให้เป็นวิหารหลวงกลางพระนคร เช่นเดียวกับวิหารพระมงคลบพิตรในพระนครศรีอยุธยา แต่มาทำเป็นวัดในสมัยรัชกาลที่ 3 แล้วเพิ่มเติมในสมัยรัชกาลที่ 4 จนเป็นวัดสุทัศน์ในปัจจุบัน
          วังเจ้านายและบ้านขุนนาง ส่วนใหญ่เป็นสถานที่พระราชทานอยู่ในกำแพงพระนคร สมัยแรกมีราว 18 วัง เช่น วังท่าพระ ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยศิลปากร

จากบทความเรื่อง....กรุงรัตนโกสินทร์ ทองมกุฎสุดใจดินใจฟ้า  นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ 3 เดือนมกราคม 2541