เรื่องเล่ากรุงรัตนโกสินทร์ (ต่อ)

กรุงเทพฯ ปัจจุบัน

ถนนราชดำเนิน

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป 2 ครั้ง ทรงได้แบบอย่างความเจริญก้าวหน้ามาปรับปรุงกรุงสยามให้เจริญทัดเทียมโลกตะวันตก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตัดถนนสายใหม่ตามแบบยุโรปเพื่อขยายเมืองไปทางทิศเหนือ ภายหลังเรียกว่า "ถนนราชดำเนิน"
          สุดถนนราชดำเนินด้านทิศเหนือมีลานพระบรมรูปทรงม้าและพระที่นั่งอนันตสมาคมที่ถ่ายแบบมาจากยุโรป (ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาลีนามว่า มาริโอ ตามานโญ มีแรงบรรดาลใจมาจากโดม วิหารเซนต์ปีเตอร์ แห่งนครรัฐวาติกัน และโบสถ์เซนต์ปอลแห่งกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร)  บริเวณนี้เองเมื่อถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 กลายเป็นที่ประชุมใหญ่ของราษฎรในเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อพุทธศักราช 2475  ต่อจากนั้นประเทศสยามก็ก้าวเข้าสู่ระบอบการปกครองแบบยุโรป มีรัฐธรรมนูญ มีพรรคการเมือง มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และมีเพลงชาติ


กรุงเทพในอดีต
พระบรมรูปทรงม้าสุดถนนราชดำเนิน

สนามหลวง

         สมัยรัชกาลที่ 5 ยังได้ขยายทุ่งพระเมรุหรือสนามหลวงให้เป็นที่สาะารณะกลางกรุงตามอย่างโลกตะวันตก สนามหลวงมีมาแต่แรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ อยู่ระหว่างพระบรมมหาราชวังหรือวังหลวง กับพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า เป็นบริเวณที่โล่ง จัดให้มีขึ้นอย่างสนามหน้าจักรวรรดิพระนครศรีอยุธยา ใช้เป็นที่สร้างพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ชั้นสูง จึงเรียกว่า "ทุ่งพระเมรุ"  นอกจากนั้นทุ่งพระเมรุยังเคยใช้เป็นที่ทำนาของหลวงด้วย
          ในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดให้เรียกว่า "ท้องสนามหลวง" เนื้อที่เดิมมีอยู่เพียงครึ่งเดียวของปัจจุบัน เห็นได้จากแนวถนนกลางทีี่ตรงกับแนวถนนระหว่างกำแพงวัดมหาธาตุ (คือถนนพระจันทร์) กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นเขตวังหน้าแต่เดิม
          เมื่อเลิกวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ขยายเนื้อที่ออกไปอีกครึ่งหนึ่งแล้วแต่งเป็นรูปไข่อย่างที่เห็นในปัจจุบัน ปลูกต้นมะขาม 2 แถวโดยรอบ เคยใช้เป็นสนามกอล์ฟ สนามแข่งว่าว สนามแข่งม้า และเป็นที่สวนสนามในสมัยหลังเคยใช้เป็นที่ติดตลาดนัด (ก่อนย้ายไปสวนจตุจักรในปัจจุบัน)

 
กรุงเทพในอดีต
สนามหลวงถ่ายทางอากาศด้านแม่น้ำเจ้าพระยา มองเห็นถนนราชดำเนินในและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอยู่ไกลออกไป
ด้านขวามือจะเห็นถนนตรงกลางสนามหลวงเดิมและที่ขยายออก
 
กรุงเทพในอดีต
สนามหลวงเคยใช้เป็นที่สวนสนาม เมื่อ พ.ศ. 2451


 
กรุงเทพในอดีต
น้ำท่วมสนามหลวง เมื่อ พ.ศ. 2485



กรุงเทพในอดีต
สนามหลวงเคยเป็นตลาดนัดก่อนที่จะย้ายไปสวนจตุจักร ประมาณ ปี พ.ศ. 2525


กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน


         กรุงเทพฯ สมัยแรกมีขอบเขตอยู่ที่คลองโอ่งอ่างหรือคลองบางลำพู มีกำแพงเมืองป้อมปราการแข็งแรง ครั้นในรัชกาลที่ 4 ขยายพระนครออกไปทางทิศตะวันออก ขุดคลองคูพระนครขึ้นใหม่ เมื่อเสร็จแล้วให้ชื่อว่า "คลองผดุงกรุงเกษม" ไม่ก่อกำแพงตามแนวคูเมืองที่ขุดใหม่เหมือนที่เคยทำมาแต่ก่อน แต่สร้างป้อมไว้ป้องกันข้าศึกถ้าจะมีขึ้นอีก 
          พื้นที่ที่เกิดขึ้นใหม่ตั้งแต่คลองคูพระนครเดิมคือคลองบางลำพูถึงคลองผดุงกรุงเกษมที่เป็นคูพระนครใหม่มีพื้นที่มากกว่าเท่าตัว ทำให้ขอบเขตพระนครกว้างขวางมากกว่าเดิม
กรุงเทพในอดีต
แผนที่กรุงเทพฯ ชั้นใน (เดิมก่อนที่จะขยายออกไปถึงบริเวณคลองผดุงกรุงเกษมในสมัยรัชกาลที่ 4)
1 หอศิลป์
16 หอกลองกรมการรักษาดินแดน
31 อนุสาวรีย์ทหารอาสา
46 วัดเทพธิดาราม
2 วังหน้าและโรงละครแห่งชาติ
17 อาคารกรมการรักษาดินแดน
32 ป้อมพระสุเมรุ
47 วัดราชนัดดา, โลหะปราสาท
3 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
18 ราชอุทยานสราญรมย์
33 บ้านเจ้าพระยา
48 พลับพลามหาเขษฎาบดินทร์
4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
19 วัดราชประดิษฐ์
34 บางลำพู
49 ป้อมมหากาฬ
5 ท่าพระจันทร์
20 สะพานปีกุน
35 กำแพงเก่าพระนคร
50 ภูเขาทองวัดสระเกศ
6 วัดมหาธาตุ
21 อนุสาวรีย์หมู
36 วัดบวรนิเวศ
51 อาคารเก่าโรงเรียน
สวนกุหลาบ
7 ตึกเก่าที่ท่าช้าง
22 วัดราชบพิธ
37 อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
52 ตึกแถวเก่าถนนบ้านหม้อ
8 พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย
23 กระทรวงการต่างประเทศ (เดิม)
38 ศาลเจ้าพ่อเสือ
53 ดิโอลด์สยามพลาซ่า
9 วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
24 กรมแผนที่ทหาร
39 ซุ้มประตูวังแพร่งสรรพศาสตร์ศุภกิจ
54 อนุสาวรีย์รัชกาลที่ 1
10 ตึกเก่าท่าเตียน
25 กระทรวงมหาดไทย
40 ตึกแถวริมถนนตะนาว
55 ศาลาเฉลิมกรุง
11 วัดพระเชตุพนฯ
26 ตึกแถวเก่าริมถนนอัษฎางค์
41 โรงเรียนตะละภัฏศึกษา
56 ตึกเก่าสำนักงานเกษตร กรุงเทพฯ
12 บ้านจักรพงษ์
27 กระทรวงกลาโหม
42 สุขุมาลอนามัย
57 โบสถ์พราหมณ์
13 สะพานเจริญรัช
28 ศาลหลักเมือง
43 ร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์และพระพุทธรูป

14 ปากคลองตลาด
29 สะพานหก
44 เสาชิงช้า, วัดสุทัศน์

15 ตึกแถวเก่าริมถนนอัษฎางค์
30 พระแม่ธรณีบีบมวยผม
45 สวนรมนีนาถ

คลอง

          การขุดคลองสมัยต้นรัตนโกสินทร์ไม่นับการขุดคลองหรือกั้นเขื่อนกันน้ำเค็มเพื่อประโยชน์แก่การเพาะปลูกแล้ว การขุดคลองเหล่านั้นอาจทำขึ้นเพื่อการคมนาคม แต่ก็ได้ประโยชน์จากการเก็บภาษีหรือการทหาร เช่น ขุดคลองแสนแสบมุ่่งไปทางตะวันออกเพื่อส่งกำลังบำรุงแก่กองทัพที่ไปทำสงครามในเขมร แต่ก็ช่วยให้เก็บภาษีได้สะดวก
          นอกจากคลองแสนแสบแล้ว รัชกาลที่ 3 ยังโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ขุดลอกซ่อมแซมคลองพระโขนง คลองบางบอนหรือคลองบางขุนเทียน คลองสุนัขหอนด้วย ฉะนั้นการขุดหรือปฏิสังขรณ์คลองจึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มรายได้ของรัฐบาลปรับปรุงให้ภาษีอากรไหลเข้าสู่เมืองหลวงได้สะดวก
          รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ขุดและซ่อมคลองอีกหลายสาย เริ่มจากคลองผดุงกรุงเกษมที่ขุดให้เป็นคลองเมือง และเมื่อไม่มีศึกสงครามมาประชิด คลองนี้ก็เอื้อประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ  ต่อจากนั้นก็ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ขุดคลองถนนตรง คลองสีลม คลองเจดีย์บูชา คลองมหาสวัสดิ์ คลองภาษีเจริญ คลองดำเนินสะดวก เป็นต้น

กรุงเทพในอดีต
คลองผดุงกรุงเกษมในสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
          ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 มีการขุดคลองเพื่อการเกษตร เช่น คลองรังสิต นอกจากนั้นยังโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ขุดคลองสาธรกับคลองราชดำริ ไปพร้อม ๆ กับการสร้างถนนเลียบสองฝั่งคลองเพื่อการคมนาคมและการค้าเป็นสำคัญ

ถนน

         ก่อนสมัยรัชกาลที่ 4 มีการสร้างถนนสายเล็ก ๆ รอบพระบรมมหาราชวัง สำหรับกระบวนแห่ในพระราชพิธีแล้วจึงสร้างถนนเชื่อมไปสู่สถานที่ที่กระบวนแห่จะต้องผ่าน เช่น วัดพระเชตุพนฯ โบสถ์พราหมณ์ เป็นต้น  ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ชาวต่างประเทศที่อาศัยอยู่ในพระนครเรียกร้องถนนเพื่อเล่นกีฬา ขี่ม้า และนั่งรถม้าตากอากาศ จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างถนนเจริญกรุงเป็นสายแรก


กรุงเทพในอดีต
ถนนเจริญกรุงถนนสายแรกของไทย สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 
          ถนนเจริญกรุงเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาลงไปทางทิศใต้ แสดงว่ากรุงเทพฯ สมัยแรกขยายพื้นที่ลงไปทางทิศใต้ตามลำน้ำเจ้าพระยาก่อน เพราะเป็นย่านจอดเรือสินค้าจากต่างประเทศ เมื่อการค้าเจริญรุ่งเรืองขึ้นก็ตัดถนนบำรุงเมืองกับถนนเฟื่อนครเพิ่มขึ้น 
          ถึงรัชกาลที่ 5 มีการสร้างถนนและสะพานข้ามคลองจำนวนมาก เท่ากับเริ่มปรับเปลี่ยนการคมนาคมจากคลองเป็นถนน แล้วจะส่งผลให้เกิดถนนขึ้นมากมายจนทุกวันนี้  ยานพาหนะยุคใหม่สำหรับผู้คนในพระนครที่เกิดขึ้นพร้อมกับถนนก็คือ รถลาก รถม้า รถจักรยาน รถยนต์ รถเมล์ รถราง รถสามล้อ


กรุงเทพในอดีต
เมื่อมีถนนก็เริ่มมียานพาหนะต่าง ๆ มากมาย
          ในรัชกาลนี้เริ่มสร้างทางรถไฟ ทำให้ทรัพยากรจากท้องถิ่นไหลเข้าพระนครและวัฒนธรรมใหม่จากกรุงเทพฯ กระจายสู่ท้องถิ่นได้สะดวก ต่อมาก็เริ่มมีเครื่องบิน บริษัทผลิตเครื่องบินจากฝรั่งมาเปิดแสดงการบินในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 มกราคม พุทธศักราช 2453 กระทรวงกลาโหมสั่งเครื่องบินชุดแรกจากประเทศฝรั่งเศสเมื่อพุทธศักราช 2454 สร้างโรงเก็บชั่วคราวขึ้นที่สนามม้าสระปทุมแล้วใช้พื้นที่บริเวณนั้นเป็นสนามบินแห่งแรก ก่อนจะเกิดสนามบินดอนเมือง
กรุงเทพในอดีต
สนามบินสระปทุม สนามบินแห่งแรกของไทย

ตึกแถว

          เมื่อสร้างถนนอย่างดีขึ้นหลายสายในพระนคร แล้วมีพ่อค้าจีน แขก ฝรั่ง เรียกร้องให้สร้างอาคารหรือตึกแถวสองข้างถนน เพื่อพวกตนจะได้ขอเช่าตั้งร้านค้าขายเหมือนประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลาย
          ทางราชการเห็นสมควรก็ปลูกสร้างอาคารตึกแถวสองชั้นขึ้นตามริมถนนสายสำคัญ ๆ เช่น ถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร และถนนเจริญกรุงตอนใน เป็นต้น

กรุงเทพในอดีต
ตึกแถวสองข้างทางริมถนนเจริญกรุง

กลุุ่มชน

         การค้าต่างประเทศที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมากมายในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ไม่ได้ก่อให้เกิดชนชั้นใหม่ขึ้นมา แต่มีผลให้ชนชั้นสูงเปลี่ยนแปลงลักษณะตนเองไปเป็นกระฎุมพีมากขึ้น มีฐานอำนาจสำคัญผูกพันอยู่กับการค้า
          มีโลกทัศน์ ค่านิยม และรสนิยมคล้ายคลึงกับกระฎุมพีในที่อื่นและสมัยอื่นหลายอย่าง แต่การกวาดต้อนผู้คนเข้ามาทดแทนพวกที่ถูกพม่ากวาดต้อนไป ทำให้มีชนหลายกลุ่มเข้ามาเป็นประชากร เช่น พวกแขกเมืองปัตตานี พวกทวาย พวกเขมร พวกญวน และมักตั้งถิ่นฐานอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะเป็นพื้นที่ที่มีผู้คนเบาบางกว่าฝั่งตะวันตก เช่น
          พวกทวาย ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลคอกควายใกล่้วัดยานนาวา ต่อมาเรียกบ้านทวาย
          พวกเขมร ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่แถวบางกระบือกลุ่มหนึ่ง อีกกลุ่มหนึ่งให้ไปอยู่เหนือวัดราชาธิวาส
          พวกญวน ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำใต้ตลาดน้อยกลุ่มหนึ่ง อีกกลุ่มหนึ่งให้ไปอยู่บางโพ
          พวกแขกตานี ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านแขกริมคลองมหานาค
          ผู้คนกลุ่มสำคัญอีกกลุ่มหนึ่งคือพวกแขกครัว ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านครัว ริมคลองมหานาค เป็นกลุ่มชนรุ่นแรก ๆ ที่มีส่วนก่อร่างสร้างกรุงเทพฯ ให้มีชีวิตและวิญญาณมั่งคั่งและมั่นคง
          นอกจากนั้นยังมีพวกจีน พวกมอญ และพวกลาว ทยอยเข้ามาตั้งบ้านเรือนเป็นระยะ ๆ จนมีจำนวนมากกว่าพวกอื่น ๆ
          กลุ่มชนหลายเผ่าพันธุ์กลายเป็นประชากรชาวสยามอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นแรงงานสร้างวัง วัด ขุดคลอง และทำงานอื่น ๆ อีกมาก
กรุงเทพในอดีต
ชุมชนแขกตานีริมคลองมหานาค

เปลี่ยนจากสยามเป็นไทย

         ชาวต่างชาติเรียกกรุงศรีอยุธยาว่าราชอาณาจักรสยามหรือเมืองไทย เมื่อถึงกรุงรัตนโกสินทร์เรียกชื่อประเทศว่า กรุงสยาม และ ประเทศสยาม  สมัยแรกมีธงช้างเป็นสัญลักษณ์ ถึงแผ่นดินพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เปลี่ยนเป็นธงไตรรงค์ที่ได้แบบอย่างมาจากยุโรป (เนเธอร์แลนด์กับฝรั่งเศส)
          หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อพุทธศักราช 2475 รัฐบาลสมัยหนึ่งให้เปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทย (สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม) ซึ่งเป็นชื่อที่เกิดขึ้นจากสำนึกชาตินิยม ผูกพันกับความเชื่อเรื่องชนชาติ  โดยจอมพล ป. พิบูลสงครามให้เหตุผลตอนแถลงต่อรัฐสภาว่า 
“...การที่เราใช้คำว่า ประเทศสยามนั้น นอกจากจะไม่ตรงกับเชื้อชาติของเราแล้ว ในต่อไปภายหน้าคนชาวต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในประเทศของเรา ก็อาจที่จะถือเอาสิทธิประเทศของเราเป็นประเทศของเขาก็ได้ คือเราเป็นชาวไทย เราก็อยู่ในประเทศสยาม ชาวจีนก็อยู่ในสยาม ถ้าหากว่าการที่อพยพของชาวต่างประเทศมากขึ้นในต่อไปข้างหน้าตั้งพันปี เราก็อาจจะไม่เข้าใจว่าประเทศสยามนี้เป็นของไทยหรือของจีน หรือของคนอื่น.” 


จากบทความเรื่อง....กรุงรัตนโกสินทร์ ทองมกุฎสุดใจดินใจฟ้า  นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ 3 เดือนมกราคม 2541