เรื่องเล่าท่อนจันทน์กับการประหารชีวิตกษัตริย์ (ต่อจากวัดโคกพระยา)

ท่อนจันทน์กับการประหารชีวิตกษัตริย์

          วิธีการประหารชีวิตด้วยท่อนจันทน์ ถือเป็นประเพณีการลงโทษชั้นสูงที่ใช้กับกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น การประหารชีวิตด้วยวิะีนี้มีกล่าวไว้ในกฎหมายตราสามดวงในส่วนที่เรียกว่า กฎมณเฑียรบาล ความว่า
การทุบด้วยไม้จันทน์
วิธีลงโทษด้วยการทุบด้วยท่อนไม้จันทน์
          "ถ้าแลโทษหนักถึงสิ้นชีวิตไซร้ ให้ส่งแก่หลวงฟันหลังแลนายแวงหลังเอาไปล้างในโคกพญา นางแวงนั่งทับตักขุนดาบ ขุนใหญ่ไปนั่งดูหมื่นหลวงฟันกราบ 3 คาบ ตีด้วยท่อนจันทน์แล้วเอาขุม นายแวงหลวงฟันผู้ใดเอาผ้าธรงแลแหวนทองโทษถึงตาย เมื่อตีนั้นเสื่อขลิบเบาะรอง"
          นอกจากนี้ ยังปรากฏประเพณีสำเร็จโทษ ในคำให้การชาวกรุงเก่าว่า การสำเร็จโทษเจ้านายคือเอาถุงแดสวมตั้งแต่พระเศียรตลอดจนปลายพระบาท เอาเชือกรัดให้แน่น เอาท่อนจันทน์ทุบให้สิ้นพระชนม์แล้วใส่หลุมฝังให้เจ้าหน้าที่รักษาอยู่ 7 วัน  ในหลักฐานของฮอลันดาอย่างจดหมายเหตุเยเรเมียส   ฟานฟลีท ได้กล่าวถึงวิะีการประหารชีวิตด้วยท่อนจันทน์ ดังนี้
          "เพชฌฆาตให้พระองค์นอนลงบนผ้าแดงและทุบพระองค์ที่พระนาภีด้วยท่อนจันทน์ นี่เป็นวิธีการสำเร็จโทษที่ใช้กันในประเทศสยาม ซึ่งใช้กับเจ้านายในราชตระกูลเท่านั้น เสร็จแล้วเขาก็ใช้ผ้านั้นห่อพระสรีระและไม้จันทน์แล้วโยนลงไปในบ่อทิ้งให้พระศพเน่าเปื่อยไป"
(ประชุมพงศาวดารเ่ม 49, 2513, น. 135-137)
          หลักฐานไทยและหลักฐานชาวต่างประเทศที่กล่าวอ้างถึงประเพณีการประหารชีวิตกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ดูจะกล่าวตรงกัน ข้อมูลในส่วนนี้ยังยอมรับได้ว่ามีความน่าเชื่อถืออย่างมาก
          ไม้จันทน์ถือเป็นไม้เนื้อหอมชนิดหนึ่งและเป็นชนิดเดียวกันกับที่ใช้แกะสลักพระพุทธรูปบูชา ท่อนจันทน์มีลักษณะเป็นไมกระบอง เมื่อใช้จะมีเจ้าพนักงานตีสลับกัน คล้ายการลงดาบบั่นคอนักโทษคือ จะมีไม้หนึ่ง ไม้สอง ไม้สาม
          การทุบด้วยท่อนจันทน์นี้ทุบจนตายคาไม้ บางครั้งทุบแล้วเกิดไม่ตายทันที ร่างนั้นก็จะโยนลงหลุม เป็นการทรมานก่อนตาย และเจ้าพนักงานก็จะเฝ้าร่างนั้นให้แน่ใจว่าตายแน่ ประมาณ 7 วัน เมื่อร่างเน่าเปื่อยแล้วจึงกลบหลุม และไม่อนุญาตให้บรรดาญาติพี่น้องของผู้ตายนำร่างไปประกอบพิธีกรรม
          ในหลักฐานของเยเรเมียส  ผานผลีท ยังระบุไว้บางตอนว่า หากญาติพี่น้องของผู้ตายแสดงอาการเศร้าโศกเสียใจที่หลุมศพหรือในบ้าน ถ้ามีผู้รู้ก็จะถูกนำตัวไปประหารเช่นกัน

ข้อเท็จจริงของสถานที่ตั้งวัดโคกพระยา สมัยอยุธยา

          การตีความเรื่องวัดโคกพระยา ไม่ว่าจะเป็นการอ้างข้อความในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่าง ๆ และการวิเคราะห์ของนักประวัติศาสตร์รุ่นก่อน ต่างลงความเห็นสอดคล้องกันว่า วัดโคกพระยาที่ประหารชีวิตกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งอยู่บริเวณทุ่งภูเขาทอง ใกล้คลองมหานาค ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าควรที่่จะมีการตรวจสอบหลักฐานและตีความใหม่ ทั้งนี้โดยอ้างอิงจากหลักฐานชาวต่างประเทศ และแผนที่อยุธยาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 (ตรงกับพุทธศตวรรษที่ 21-22) ระบุตำแหน่งที่ตั้งของวัดโคกพระยาสอดคล้องตรงกัน รวมไปถึงความน่าจะเป็นไปได้ในการควบคุมตัวนักโทษไปยังแดนประหาร เพราะถ้าหากวัดโคกพระยาตั้งอยู่ใกล้กับวัดภูเขาทองแล้ว การนำนักโทษไปประหารชีวิตถือเป็นเรื่องลำบากมาก
วัดโคกพระยา
ซากวัดโคกพระยา ใกล้วัดภูเขาทอง ซึ่งเพิ่งขุดและแต่งเสร็จ
           ในสมัยนั้นต้องเดินทางด้วยเรือ จากคลองเมือง (หากนำนักโทษออกจากวัง) ไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และเข้าคลองมหานาค ถึงวัดโคกพระยาหรืออีกเส้นหนึ่ง จากคลองเมืองผ่านคลองวัดศาลาปูน เข้าคลองมหานาค ถึงวัดโคกพระยา ซึ่งรวมระยะทางประมาณ 2.5 กิโลเมตร อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการชิงตัวนักโทษระหว่างทางอีกด้วย
          แต่สำหรับสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่หลักฐานต่างประเทศยืนยันนั้น มีความน่าเชื่อถือมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นจดหมายเหตุของเยเรเมียส  ฟานฟลีท พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต (เยเรเมียส  ฟานฟลีท ที่ระบุตรงกันว่า สถานที่ประหารชีวิตกษัตริย์ของอยุธยาคือ วัดพระเมรุโคกพระยาหรือวัดโคกพระยา ตั้งอยู่ตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวัง ดังความที่ว่า
          "พระมหาอุปราชถูกนำตัวมากรุงศรีอยุธยาและถูกตัดสินให้สำเร็จโทษโดยเร็ว เมื่อพระองค์ทรงทราบคำตัดสิน พระองค์ทรงขอร้องโดยทันทีว่า ก่อนที่จะสิ้นพระชนม์ ขอให้ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทูลข้อราชการสำคัญหลายประการ...พระเจ้าแผ่นดินมิได้มีความซาบซึ้งในคำแนะนำ ทั้งมิได้เกิดความสมเพชเวทนาเลย พระองค์ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงความตั้งพระทัยซึ่งได้ยึดมั่นอยู่ ตรงกันข้ามกลับมีรับสั่งให้นำพระมหาอุปราชไปสำเร็จโทษโดยเร็ว พระมหาอุปราชจึงถูกนำตัวไปที่วัดชื่อพระเมรุโคกพญา (Watprahimin Khopirja) ตรงข้ามกับพระราชวัง เพชฌฆาตให้พระองค์นอนลงบนผ้าแดงและพระองค์ที่พระนาภีด้วยท่อนจันทน์ นี่เป็นวิธีสำเร็จโทษที่ใช้กันในประเทศสยาม ซึ่งใช้กับเจ้านายในราชตระกูลเท่านั้น เสร็จแล้วเขาก็ใช้ผ้านั้นห่อพระสรีระและไม้จันทน์แล้วโยนลงไปในบ่อทิ้งให้พระศพเน่าเปื่อยไป นี่เป็นวาระสุดท้ายของพระมหาอุปราชผู้ไร้สุข ซึ่งสิ้นพระชนม์ลงเพราะทรงกล้าอ้างสิทธิในมงกุฎซึ่งเป็นสิทธิตามกฎหมายของพระองค์"
(ประชุมพงศาวดารเล่ม 49, 2513, น. 135-137)
          "หลังจากนั้นพระเจ้าแผ่นดินและพระราชมารดาก็ถูกนำตัวไปยังวัดปรักหักพังรกร้างวัดหนึ่่งชื่อว่าวัดพระเมรุโคกพญา เพชฌฆาตให้พระองค์นอนลงบนพรมสีแดงและทุบพระองค์ด้วยท่อนไม้จันทน์ที่พระนาภีและโยนพระสรีระของทั้งสองพระองค์ลงไปในบ่อ ซึ่งพระองค์ได้สิ้นพระชนม์ที่นั่น..."
(ประชุมพงศาวดารเล่ม 49, 2513, น. 178)
          "...สุดท้ายในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ปีที่แล้ว พระเจ้าแผ่นดินทรงปรารถนาจะกำจัดทุกสิ่งที่อาจเป็นภัยแก่พระองค์ พระองค์จึงทรงตัดสินพระทัยให้ประหารชีวิตพระโอรสที่เหลือสุดท้าย 2 องค์ ของพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศเสีย เจ้าชายองค์หนึ่งพระชนม์ได้ 16 พรรษา และอีกองค์หนึ่งมีพระชนม์ 18 พรรษา ฉะนั้นในเวลากลางคืนพระองค์จึงนำเจ้าชายไปที่หน้าวัดพระเมรุโคกพระยา อันเป็นที่ซึ่งกษัตริย์และเจ้านายองค์อื่น ๆ ถูกสำเร็จโทษ ด้วยทรงตั้งพระทัยที่จะให้ประหารเจ้าชายทั้งสองเสียโดยวิธีเดียวกัน..."
(ประชุมพงศาวดารเล่ม 49, 2513, น. 238)
วัดโคกพระยา
ซากวัดโคกพระยา ข้างวัดภูเขาทอง อยุธยา
          จากหลักฐานที่นำมาอ้างดังกล่าวสามารถสรุปได้ว่า วัดโคกพระยา หรือวัดพระเมรุโคกพระยา น่าจะตั้งอยู่ตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวังทางทิศเหนือ เพราะการเรียกว่า วัดพระเมรุโคกพระยา มีความสอดคล้องกับวัดหน้าพระเมรุ ซึ่งตั้งทางตอนเหนือของเกาะเมืองตรงข้ามพระบรมมหาราชวังเหมือน และทางทิศเหนือของวัดนี้ปรากฏชื่อวัดโคกพระยา ดังในหลักฐานจากแผนที่ De Groote Siamse Rievier ME-NAM ของนาย Francois valentijn เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1723 (พ.ศ. 2269) ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ โดยระบุชื่อ "Wat kock pia" (วัดโคกพระยา) ได้อย่างตรงกับหลักฐานของนายเยเรเมียส  ฟานฟลีท หรือ วัน วลิต
             อย่างไรก็ดี ยังมีข้อน่าสังเกตประการหนึ่งว่า นาย Francois Valentijn ได้วาดลักษณะของวัดโคกพระยาโดดเด่น และมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่แปลกตา คือมีอาคารทางตอนหน้าคล้ายโบสถ์ และด้านหลังก่อเป็นเนินทรงเจดีย์ จำนวน 3 เนิน จึงทำให้น่าเชื่อว่าจากหลักฐานทั้งหมดข้างต้น (ที่มีอยู่ในเวลานี้) สามารถตั้งข้อสันนิษฐานใหม่ได้ว่า วัดโคกพระยาที่แท้จริงและเป็นที่ประหารชีวิตของกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งอยู่ที่วัดโคกพระยาตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวังนั่นเอง จนกว่าจะมีหลักฐานอื่นที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่าหลักฐานี้

บทสรุป

          ผลจากการศึกษาสถานที่ประหารชีวิตกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์สมัยอยุธยาพบว่า ในหลักฐานพงศาวดารกรุงศรีอยุธยามีข้อความที่ก่อให้เกิดการตีความและมีข้อสมมติฐานของนักประวัติศาสตร์ระบุว่า ตั้งอยู่ใกล้วัดภูเขาทองและคลองมหานาค แต่จากการตรวจสอบหลักฐานและศึกษาจากหลักฐานชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 (พุทธศตวรรษที่ 21-22) พบว่าสถานที่ตั้งวัดโคกพระยาอันเป็นที่ประหารชีวิตกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะเมืองตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวังและวัดหน้าพระเมรุ โดยมีชื่อว่า วัดพระเมรุโคกพระยา หรือวัดโคกพระยา โดยมีหลักฐานจากเอกสารของชาวฮอลันดาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และหลักฐานจากแผนที่ที่เขียนขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
แผนที่วัดโคกพระยา
แผนที่วัดโคกพระยา 1 และ 2 ตามข้อเขียนนี้สันนิษฐานว่าเป็นหมายเลข 1
แผนที่จากเว็บไซท์ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

จากบทความ  ตะแลงแกง ทุ่งช้าง และวัดโคกพระยา แดนประหารสมัยอยุธยา
 โดยเทพมนตรี  ลิมปพยอม  นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ 4 พุทธศักราช 25542