เรื่องเล่าเรื่องเมืองบางยางและเมืองราด

เรื่องเมืองบางยางและเมืองราด

          เรื่องเมืองสำคัญที่ปรากฏในจารึก คือ เมืองบางยาง (ของขันบางกลางหาว) กับเมืองราด (ของขุนผาเมือง) นั้น ตั้งอยู่ที่ใด ผู้ครองเมืองทั้งสองเมืองนี้ครองเมืองก่อนที่จะทำการชิงอำนาจจากขอมสบาดโขลญลำพงได้สำเร็จและสามารถตั้งอาณาจักรสุโขทัยขึ้น เป็นเมืองสำคัญที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
         เมืองบางยางนั้น เชื่อกันมาแต่แรกว่าคือเมืองนครไทย ซึ่งปัจจุบันคืออำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นเมืองเก่า อยู่ทางทิศใต้ของอำเภอน้ำปาด จ. อุตรดิตถ์ และอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอหล่มเก่า จ. เพชรบูรณ์
          สำหรับเมืองราดนั้น ได้มีการศึกษาที่เชื่อว่าน่าจะตั้งอยู่บริเวณจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่อำเภอท่าปลาหรืออำเภอทุ่งยั้ง อำเภอลับแล ในครั้งแรกนั้นมีข้อสันนิษฐานว่าเมืองราด ถ้าไม่เป็นเพชรบูรณ์ก็อาจจะเป็นเมืองศรีเทพ โดยนำชื่อ นครราช (เมืองนครราชสีมา) ที่มีที่มีเสียงใกล้เคียงกัน แต่มีระยะทางเดินมากวัน จนไม่เชื่อว่าจะยกทัพเข้าทำการสู้รบได้ทันการ จึงสรุปว่า ไม่ควรตั้งอยู่บริเวณดังกล่าว

                ดังนั้น เมืองบางยาง เมืองราด ที่ปรากฏชื่อขุนบางกลางหาว ขุนผาเมือง ครองก่อนเข้าชิงอำนาจขอมและตั้งอาณาจักรสุโขทัย จึงเป็นกรณีศึกษาถึงสถานที่และเส้นทางการเดินทัพที่ทำให้ชิงอำนาจขอมในเมืองสุโขทัยได้ทันเหตุการณ์

                ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ได้กล่าวถึงกลุ่มเมืองนี้ในเรื่องประวัติศาสตร์สุโขทัยจารึกว่า

                “คนทั่วไปเข้าใจว่า เมืองราดอยู่ที่เพชรบูรณ์ แต่ข้าพเจ้าวางตำแหน่งกลุ่มเมืองราด เมืองสะค้า เมืองลุมบาจาย ไว้ที่ลุ่มแม่น้ำน่าน”

                ในจารึก หลักที่ 2 ของพระมหาเถรศรีลัทธาราชจุฬามณี นั้นทำให้ทราบว่า เมืองราดกับเมืองสะค้า และเมืองลุมบาจาย เป็นกลุ่มเมืองที่อยู่ใกล้กัน พ่อขุนผาเมืองเป็นโอรสพ่อขุนศรีนาวนำถุม และเป็นเจ้าเมืองราด

                มีข้อสังเกตว่า กษัตริย์ที่ครองเมืองน่านนั้น มีพระนาม ผานอง ผากอง และผาสุม ไม่ปรากฏว่ากษัตริย์เมืองอื่นใช้คำว่า ผา นำหน้าพระนาม จึงเข้าใจว่า ขุนผาเมือง นั้นน่าจะเป็นกษัตริย์เมืองน่านด้วย นอกจากนี้ยังปรากฏว่า กษัตริย์เมืองน่าน นั้นมีโอรสองค์หนึ่งชื่อ บาจาย ก็น่าจะมีเหตุเกี่ยวพันกันในเรื่องเมืองน่าน มีอำนาจเหนือเมืองบาจาย จึงให้ บาจายโอรสองค์นั้นมีนามว่า บาจาย ตรงกับชื่อ เมืองลุมบาจาย

                ในจารึกที่ 8 นั้นได้กล่าวถึงไพร่พลของพระยาลิไท ว่า มีทั้งชาวสระหลวงสองแคว ปากยม พระบาง เป็นต้น ดังนั้น หากเริ่มตั้งแต่เมืองทางทิศตะวันออกของเมืองสุโขทัยแล้ว กวาดตามเข็มนาฬิกาลงไปทางทิศใต้ แล้วกวาดไปทางทิศตะวันตกขึ้นไปทางเหนือ และกวาดลงจนจบที่ทิศตะวันออกนั้น (เมืองที่อยู่รอบเมืองสุโขทัย 360 องศา) ถือหลักตามพุทธศาสนาว่า ทิศตะวันออกเป็นทิศหน้า และวนเป็นทักษิณาวรรคหรือหมุนตามเข็มนาฬิกาแล้วก็จะพบว่า เมืองที่อยู่รอบเมืองสุโขทัยนั้น เป็นดังนี้

เมืองราด
แผนที่ ที่ตั้งเมืองต่าง ๆ รอบเมืองสุโขทัย จากข้อมูลของ ศ.ดร. ประเสริฐ ณ นคร
                เริ่มจาก สระหลวง สองแคว (พิษณุโลก) อยู่ทางทิศตะวันออกของสุโขทัย แล้วไปปากยม (พิจิตร) อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ แล้วไปพระบาง (นครสวรรค์) อยู่ทางทิศใต้และไปที่ชากังราว สุพรรณภาว นครพระชุม
(รวม 3 เมืองนี้อยู่ใน จังหวัดกำแพงเพชร) ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ จากนั้นก็เป็นเมืองพาน (บางพาน อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ) จึงถึงเมืองราด เมืองสะค้า เมืองลุมบาจาย (รวม 3 เมืองนี้อยู่ในระหว่างทิศเหนือกับทิศตะวันออกของสุโขทัย)

                ดังนั้นเมืองราด เมืองสะค้า เมืองลุมบาจาย จึงตั้งอยู่ระหว่างทิศเหนือและทิศตะวันออก ซึ่งอยู่เหนือเมืองพิษณุโลก ในจารึกหลักที่ 1 นั้น ไว้วางเมืองลุมบาจาย และเมืองสะด้าไว้ระหว่างเมืองพิษณุโลก กับเวียงจันทร์ หากเป็นตามนี้ก็พอสรุปว่าเมืองราด เมืองสะด้า เมืองลุมบาจาย นั้นอยู่บริเวณทางตะวันออกเฉียงเหนือ และบริเวณลุ่มแม่น้ำน่าน ที่มีเหมาะสำหรับกลุ่มเมืองดังกล่าว

                ข้อศึกษา ที่ควรพิจารณาคือ ขุนผาเมือง ยกกำลังเข้ามาช่วยขุนบางกลางหาวรบกับขอม สบาดโขลญลำพง

ที่เมืองสุโขทัยนั้น หากเมืองราดตั้งอยู่แถว จ.เพชรบูรณ์ ก็น่าจะยกทัพลงมาช่วยไม่ทัน ดังนั้นเมืองราด จึงน่าจะตั้งอยู่ที่บริเวณลุ่มแม่น้ำน่าน ในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์

                จังหวัดอุตรดิตถ์นั้นมี ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล มีประวัติของเมืองเก่าที่น่าสนใจ กล่าวคือ (จากอักขรานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน) ว่า “เคยเป็นชื่อเมืองเก่า ปรากฏในพงศาวดาร เหนือว่า บาธรรมราช เจ้าเมืองสวรรค์โลกเป็นผู้สร้าง และว่าเดิมชื่อเมืองกัมโพชนคร แต่หลักฐานอื่นไม่มีประกอบ มาปรากฏในกฎหมายเก่า สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 บ่งชื่อเมืองนี้ว่า คู่กับเมืองยม เป็นเมืองขึ้นของเมืองสวรรคโลก จึงน่าจะสร้างขึ้นราวสมัยไทยแผ่อำนาจลงทางใต้ เข้ามาตั้งแว่นแคว้นเชลียง (สวรรคโลก) ขึ้นแล้วคงจะตั้งเมืองทั้งสองนี้ ขึ้นไว้เป็นเมืองหน้าด่านป้องกันขอม คือตั้งเมืองบางยมขึ้นที่แม่น้ำยม (บัดนี้ร้างหมดแล้ว) กับเมืองทุ่งยั้งที่แม่น้ำน่าน (ในสมัยนั้น สายน้ำน่านคงอยู่ใกล้เมืองทุ่งยั้ง แต่บัดนี้ เปลี่ยนทางออกไปทางเมืองมาก) สมัยสุโขทัยเมืองทุ่งยั้งยังเป็นเมืองด่านป้องกันขอมทางด้านตะวันออกอยู่

                เมืองทุ่งยั้งน่าจะมาเสื่อมลงในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ด้วยปรากฏว่า พระยายุธิษเฐียรเป็นกบฏ พาเอาครอบครัวเมืองเชลียงไปขึ้นแก่พระเจ้าติโลกราชผู้ครองเชียงใหม่ เมื่อ พงศ.2003 ฉะนั้น ผู้คนชาวทุ่งยั้งคงจะถูกกวาดไปลานนาไทย เสียเป็นส่วนมาก สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถต้องทรงต่อสู้กับพระเจ้าติโลกราชอยู่ช้านาน

หัวเมืองฝ่ายเหนือคงป่นปี้ ฉะนั้นเมื่อได้หัวเมืองฝ่ายเหนือกลับคืนมา ผู้คนลงมีน้อย จึงโปรดให้ตัดอาณาเขตเมืองเชลียงทางลำน้ำน่าน มารวมตั้งเป็นเมืองพิชัยขึ้นค้น เมืองทุ่งยั้งก็มาขั้นเมืองพิชัยด้วย แต่สายน้ำน่านเปลี่ยนทางไป เมืองทุ่งยั้งจึงอยู่ห่างจากลำน้ำออกไปทุกทีและกันดาร พลเมืองจึงอพยพมาอยู่เมืองพิชัยเสียเป็นส่วนมาก เมืองจึงร้าง หากแต่เมืองนั้นมีปูชนียสถานสำคัญ คือ พระแท่นศิลาอาสน์ จึงยังมีคนเหลืออยู่บ้างจนบัดนี้ แต่ปรากฏเรียกชื่อใหม่ว่า เมืองศรีพนมมาศ”

                ดังนั้น เมืองเก่าที่ตั้งอยู่ในลุ่มแม่น้ำน่าน ที่อยู่ในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์นั้น พอเชื่อว่าเมืองราดก็น่าจะตั้งอยู่บริเวณนี้ได้ เนื่องจากระยะทางไกล สอดคล้องกับเหตุการณ์เคลื่อนกำลังออกจากเมืองราดไปร่วมกับเมืองบางยาง เพื่อชิงอำนาจจากขอม ที่เมืองสุโขทัย ซึ่งต้องเคลื่อนพลทั้งทางบก ทางน้ำได้รวดเร็ว จังหวัดอุตรดิตถ์นั้นอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดสุโขทัย และบริเวณตำบลทุ่งยั้งนั้นอยู่ห่างจากเมืองศรีสัชนาลัยของแคว้นสุโขทัยประมาณ 35
กิโลเมตร

                บริเวณตำบลทุ่งยั้งนั้น มีเมืองเก่าที่คูน้ำ – คันดินหลายชั้น ซับซ้อนกันอยู่จนยากที่จะบอกลักษณะของเมือง
ส่วนบริเวณที่เรียกว่า เวียงเจ้าเงาะพอเห็นรูปร่างของเมืองชัดเจน บริเวณนี้อยู่ติดกับวัดบรมธาตุ ทุ่งทางทิศตะวันออกนั้นมีคลองแม่พอง มีน้ำตลอดปีไหลผ่านเมืองเก่าลงไปแม่น้ำน่านทางทิศตะวันออกเฉียงใต้

                ดังนั้น เมืองราด ตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำน่าน ในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์  จึงมีความเชื่อถือมากกว่า
จาก...หนังสือประวัติศาสตร์ไทย  โดย...พลาดิศัย  สิทธิธัยกิจ,สุขภาพใจ,2547
          แต่ข้อเขียน "พลิกประวัติศาสตร์แห่งชาติ พ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด อยู่เมืองโคราชเก่า [อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา]"  จากคอลัมน์ สุวรรณภูมิในอาเซียน โดย...สุจิตต์  วงษ์เทศ  มติชนออนไลน์ (วันที่ 1 มีนาคม 2561) เขียนให้นักปราชญ์พิจารณา  ดังนี้
พ่อขุนผาเมืองเป็นเจ้าเมืองราด ผู้ยกไพร่พลชิงได้เมืองสุโขทัยคืนจากการยึดครองของขอมละโว้ แต่ไม่ขึ้นครองเมืองสุโขทัย พ่อขุนผาเมืองกลับยกให้พ่อขุนบางกลางหาว (เจ้าเมืองบางยาง) ซึ่งเป็นญาติใกล้ชิด

เมืองราดของพ่อขุนผาเมืองอยู่ที่ไหน?  เป็นคำถามสำคัญที่บรรดานักปราชญ์และนักวิชาการในไทยสืบค้นแล้วทักท้วงถกเถียงกว้างขวางยาวนานหลายสิบปีมาแล้ว แต่ยังไม่ยุติ และถึงทุกวันนี้ยังไม่พบเมืองราด
         อ.ศรีศักร วัลลิโภดม บอกไว้ล่าสุดในหนังสือสร้างบ้านแปงเมือง (พ.ศ.2560) ว่า เมืองราดของพ่อขุนผาเมืองอยู่เมืองโคราชเก่า อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา
ประเด็นนี้ อ.มานิต วัลลิโภดม เคยชี้แนะไว้ (ตั้งแต่ พ.ศ.2502) และจิตร ภูมิศักดิ์ เห็นด้วยจึงเขียนสนับสนุน (ตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2507) แต่นักวิชาการกระแสหลักไม่ให้ความสำคัญ
ก่อนหน้านี้นานแล้วมีนักปราชญ์ นักค้นคว้า นักวิชาการ เสนอว่าเมืองราดอยู่ในพื้นที่หลายแห่ง แต่ยังไม่เป็นที่ยุติต้องกัน เช่น เมืองเพชรบูรณ์ (จ.เพชรบูรณ์), เมืองนครไทย (จ.พิษณุโลก), เมืองทุ่งยั้ง (จ.อุตรดิตถ์)
         ความเห็นเรื่องเมืองราดอยู่ที่ไหน? ยังไม่ลงตัวเห็นพ้องต้องกัน น่าจะมีเหตุจากยึดติดกรอบความคิดประวัติศาสตร์แห่งชาติ ว่ามีชนชาติไทยเชื้อชาติไทยอพยพยกโขยงถอนรากถอนโคนจากนอกประเทศไทย สถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย บริเวณลุ่มน้ำยม-น่าน ดังนั้น พ่อขุนผาเมืองต้องเป็นชนชาติไทย เชื้อชาติไทย และต้องครองเมืองอยู่ทางลุ่มน้ำยม-น่าน พ้นจากบริเวณนี้ไม่ไทย

ประวัติศาสตร์ไทย ไม่เหมือนเดิม
         ไม่จำเป็นต้องยุติว่าเมืองราดของพ่อขุนผาเมืองอยู่เมืองโคราชเก่า จ.นครราชสีมา แต่จำเป็นอย่างยิ่งต้อง “แตกกรอบ” ประวัติศาสตร์รัฐสุโขทัย แล้วร่วมกัน ทำความเข้าใจใหม่ ประวัติศาสตร์ไทยไม่เหมือนเดิม
         นครราชสีมา (บริเวณต้นลุ่มน้ำมูล) อยู่นอกแดนรัฐสุโขทัย โดยเป็นพื้นที่ของบ้านเมืองเรียกรัฐพิมายกับรัฐศรีจนาศะ (เมืองเสมา อ.สูงเนิน) ซึ่งมีความเป็นมาอย่างน้อยตั้งแต่เรือน พ.ศ.1000 นานมากก่อนมีรัฐสุโขทัย ราว 700 ปี
         รัฐสุโขทัย เป็นรัฐหนึ่งไม่ใหญ่โตกว้างขวางอย่างพิสดาร (ตามที่อ้างไว้ในประวัติศาสตร์แห่งชาติ) สมัยแรกราวเรือน พ.ศ.1700 น่าจะมีพื้นที่ขอบเขตเข้มข้นแค่ 3 เมือง ได้แก่ เมืองสุโขทัย (อ.เมืองฯ จ.สุโขทัย), เมืองศรีสัชนาลัย (อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย), และเมืองพิษณุโลก (อ.เมืองฯ จ.พิษณุโลก)
        ปลายแดนรัฐสุโขทัยมีอำนาจเบาบาง เหนือสุดที่อุตรดิตถ์ ใต้สุดที่นครสวรรค์ ตะวันออกที่เพชรบูรณ์ ดังนั้นรัฐสุโขทัยไม่มีอำนาจการเมืองเหนือบ้านเมืองบนพื้นที่ลุ่มน้ำมูล (นครราชสีมา และใกล้เคียง)

เมืองราด  (ที่เมืองโคราชเก่า) ประชากรตกทอดจากชาวเมืองเสมา (ศรีจนาศะ) อาจมีทั้งพูดมอญ-เขมร และอื่น ๆ แต่ตอนหลังพูดไต-ไท กระทั่งกลายตนเป็นไทย แล้วร่วมสร้างเมืองนครราชสีมา ยุคต้นอยุธยา

พ่อขุนผาเมือง เป็นใคร? มาจากไหน?
ประวัติย่อของพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด (เมืองโคราชเก่า อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา) มีดังนี้
        1. โอรสพ่อขุนศรีนาวนำถุม (ผู้สถาปนากรุงสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย) เชื้อสายกษัตริย์เมืองละโว้ (ลพบุรี) ซึ่งเป็นขอม
        2. วงศ์วานว่านเครือกษัตริย์กัมพูชา เพราะได้รับสิ่งของสำคัญจากกษัตริย์เมืองนครธม (ศรียโสธรปุระ) ได้แก่ (1.) พระแสงขรรค์ชัยศรี (2.) พระนาม ศรีอินทรบดินทราทิตย์ (3.) ตำแหน่ง กมรเตงอัญผาเมือง (4.) ลูกสาวชื่อ สุขรเทวี
        3. ผู้ยึดเมืองสุโขทัย จากการยึดครองของ ขอมสบาดโขลญลำพง” แต่ไม่ครองเมืองด้วยตนเอง โดยยกให้พ่อขุนบางกลางหาว (เจ้าเมืองบางยาง เป็นเครือญาติกัน) พร้อมยกพระนาม (ที่รับจากกษัตริย์กัมพูชา) ให้ด้วยว่า ศรีอินทราทิตย์”
         4. ลุงของมหาเถรศรีศรัทธา ผู้เล่าเรื่องทั้งหมดนี้ แล้วบันทึกเป็นศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 2 (วัดศรีชุม) ทำให้มีประวัติศาสตร์กรุงสุโขทัยในประวัติศาสตร์ไทยปัจจุบัน

เมืองราด ของพ่อขุนผาเมือง อยู่เมืองโคราชเก่า   โดย ศรีศักร วัลลิโภดม
        พ่อขุนผาเมืองนั้นนอกจากทรงเป็นพระราชบุตรเขยของกษัตริย์ขอมแล้ว ยังได้รับพระราชทานพระยศบรรดาศักดิ์เป็น กมรเตงอัญศรีบดินทราทิตย์ที่เป็นเจ้านายขุนนางทหารในระดับขุนพลทีเดียว
บริเวณที่อยู่ในตำแหน่งของเมืองราดนั้น น่าจะเป็นบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบนในเขตจังหวัดนครราชสีมาและบุรีรัมย์ในพื้นที่ราบสูงโคราช
         ในสมัยเมืองพระนครคือแต่พุทธศตวรรษที่ 16 ลงมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 19 นั้น บ้านเมืองในลุ่มน้ำมูลตอนบนนี้มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นบ้านเมืองใหญ่ ดังมีหลักฐานให้เห็นจากปราสาทพนมรุ้งและปราสาทหินพิมายอันเป็นศาสนสถานที่สำคัญของบ้านเมืองและรัฐ มีวงศ์กษัตริย์ที่รู้จักกันดีในนาม ราชวงศ์มหินทรปุระ” ปกครอง
         ในช่วงเวลาพุทธศตวรรษที่ 17-19 ก็เป็นช่วงเวลาของการเติบโตและการขยายตัวของบ้านเมืองทั้งในพื้นที่ราบลุ่มทะเลสาบ และที่ราบสูงโคราช เพราะเป็นช่วงเวลาของการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจการค้าขายกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ของผู้คนในการสร้างบ้านแปงเมือง มีร่องรอยของชุมชนและศาสนสถานที่เกิดใหม่หลายแห่งในบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบน เมืองราดจึงน่าจะอยู่ในบริเวณนี้
        “เมืองโคราช” หรือนครราชสีมาจึงน่าจะพิจารณาได้ว่าเป็นเมืองราด เพราะมีตำนานเมืองที่สะท้อนให้เห็นความเป็นเมืองใหญ่ โดยเฉพาะเชื่อกันว่าเมืองราดน่าจะมาจากคำว่า นครราชในตำนานเมืองนครราชสีมา
         ถ้าหากนำตำแหน่งเมืองนครราชสีมาไปเปรียบเทียบกับเมืองสุโขทัยครั้งพ่อขุนผาเมืองและพ่อขุนบางกลางหาวร่วมกันตีเมืองสุโขทัยจากขอมสบาดโขลญลำพงแล้ว ก็น่าที่จะเข้าใจได้ว่าเมืองสุโขทัยในช่วงเวลานั้นยังเป็นเมืองไม่ใหญ่โตเท่าใด เพราะอยู่ในที่ห่างไกลบ้านเมืองที่เจริญแล้วในลุ่มทะเลสาบและในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในภาคกลาง
         เพราะความเป็นเมืองที่ใหญ่กว่าเจริญกว่าของเมืองราดนี้เอง ที่ทำให้พ่อขุนผาเมืองไม่คิดเอาราชสมบัติเมืองสุโขทัย ทั้ง ๆ ที่พระองค์และกองทัพเข้าเมืองสุโขทัยได้ก่อนกองทัพของพ่อขุนบางกลางหาว เลยกลายเป็นผู้ทรงอภิเษกให้พ่อขุนบางกลางหาวและให้พระนามและตำแหน่งเกียรติยศของพระองค์แก่พ่อขุนบางกลางหาวในพระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์”
[จากหนังสือ สร้างบ้านแปงเมือง ของ ศรีศักร วัลลิโภดม สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2560 หน้า 137-139]

จิตร ภูมิศักดิ์ สนับสนุนเมืองโคราชเก่า คือ เมืองราดของพ่อขุนผาเมือง
         เมืองราดของพ่อขุนผาเมือง อยู่เมืองโคราชเก่า ต.โคราช อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา เป็นข้อสันนิษฐานแรกสุดของ มานิต วัลลิโภดม (อดีตนักปราชญ์สามัญชน ประจำกรมศิลปากร) อยู่ในหนังสือ นำเที่ยวเมืองพิมายฯ กรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก พ.ศ.2502 โดยอ้างว่ามีร่องรอยชื่อ คอนราช, นครราช ตรงกับเมืองราด อยู่ในเอกสารเก่า ได้แก่ ตำนานอุรังคธาตุ และพงศาวดารเหนือ
เส้นทางคมนาคมจากเมืองโคราชเก่าไปเมืองสุโขทัยไม่มีอุปสรรค ได้แก่ จากเมืองโคราชเก่า ขึ้นไปทางเมืองเพชรบูรณ์, ผ่านเมืองหล่ม, ผ่านเมืองนครไทย (พิษณุโลก), ผ่านเมืองตรอน (อุตรดิตถ์) ลงแม่น้ำน่านเข้าเมืองสุโขทัย

จิตร ภูมิศักด์ สนับสนุนข้อสันนิษฐานของมานิต วัลลิโภดม จึงเขียนไว้ (ตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2509) ในหนังสือ สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนสมัยศรีอยุธยา (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2526) ดังนี้
         “ว่าด้วยชื่อของเมืองโคราชนั้น, ข้าพเจ้ายืนยันได้แน่ว่า คือ นครราช นั่นเอง. ชาวเขมรในกัมพูชายังคงเรียกเมืองนครราชสีมาตามชื่อเดิมว่า นครราช อยู่จนทุกวันนี้, แต่เขียนเป็นคำเพี้ยนอย่างเขมรว่า องฺครราช เหมือนนครวัด เขียน องฺครวัด (ที่ฝรั่งนำไปเรียกเป็น Angkor Vat). องฺคร หรือที่เขมรออกเสียงเป็น อ็องกอ-อ็องโก นั้น เป็นคำเพี้ยนจากคำ นคร.—”
       “ว่าโดยทางชื่อเมืองแล้ว ข้าพเจ้ายืนยันว่าความสันนิษฐานของ นายมานิต วัลลิโภดม ว่า โคราช เป็นคำที่เพี้ยนมาจาก นครราช นั้น ถูกต้องที่สุด”

จิตร ภูมิศักดิ์ เพิ่มหลักฐาน 2 เรื่อง สนับสนุนแนวคิดของ มานิต วัลลิโภดม ดังนี้
         ผู้นำเมืองสุโขทัยสมัยแรก ล้วนคุ้นเคยใกล้ชิดผู้นำของบ้านเมืองต้นลุ่มน้ำมูล มีข้อความบอกไว้ในจารึกวัดศรีชุม (จารึกสุโขทัย หลักที่ 2) เล่าประวัติเจ้านายเมืองสุโขทัยชื่อ มหาเถรศรีศรัทธา ซึ่งเป็นหลานพ่อขุนผาเมือง ดังนี้
1.ก่อนบวช ท่านศรีศรัทธาวัยฉกรรจ์ขี่ช้างรบกับท้าวอีจาน ซึ่งน่าจะเป็นผู้นำอยู่แถบเชิงเขาพนมดงรัก ปัจจุบันเรียก ดงอีจาน เขตนครราชสีมาต่อกับบุรีรัมย์

2 .หลังบวช ท่านศรีศรัทธาเป็นภิกษุธุดงค์จากเมืองสุโขทัยไปสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ชื่อ รัตนภูมิ ปัจจุบันคือ ปราสาทพนมวัน (อ.เมืองฯ จ.นครราชสีมา)