เรื่องเล่ากำเนิดรถเมล์

รถเมล์

รถเมล์
รถเมล์นายเลิศ
          เมื่อ พ.ศ. 2428 เริ่มมีรถเมล์ครั้งแรกในบางกอก รถเมล์ในสมัยนั้นมีรูปร่างเช่นเดียวกับรถม้า คือเอารถกุดังชนิดพื้นต่ำมาเสริมเสาและหลังคา ทำที่นั่งให้สูงขึ้นและยาวไปตามตัวรถ หันหน้าเข้าหากัน เว้นช่องกลางไว้สำหรับผู้โดยสารห้อยเท้า รถเมล์สมัยนั้นยังไม่ได้ใช้เครื่องยนต์ คงใช้เทียมม้าคู่ มีคนขับคนหนึ่งกับคนเก็บเงินอีกคนหนึ่ง คนกระเป๋านั้นมีถุงเก็บอัฐห้อยคอ ต้นทางเริ่มจากปากตรอกเจ๊สัวเนียม ไปหมดระยะเอาที่ศาลเจ้าหลักเมือง ค่าโดยสารเก็บเพียงคนละ 2 ไพ (6 สตางค์) เลยเกิดมีเพลงร้องกันว่า "มีอัฐสองไพว่าจะไปรถเมล์"  และเนื่องจากใช้ม้าจึงต้องมีสถานที่สำหรับหยุดรถให้ม้ากินหญ้า  รถเมล์รุ่นนี้อยู่ได้ประมาณ 2 ปี ก็ไม่มีคนขึ้น เพราะมีรถรางซึ่งสะดวกรวดเร็วกว่ามาแทนที่
          ต่อมาพระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ  เศรษฐบุตร) ได้เริ่มรถเมล์แบบเทียมด้วยม้าขึ้นอีก รับส่งคนโดยสารระหว่างสะพานยศเส (กษัตริย์ศึก) กับประตูน้ำปทุมวัน ที่ตั้งรถเมล์สายนี้ขึ้น ก็เพราะเส้นทางนั้นยังไม่มีรถรางเดินและท่านเจ้าคุณมีเรือยนต์ขาวของท่านจอดอยู่ที่ท่าเรือยนต์ตรงวังกรมหลวงเพชรบูรณ์ ฉะนั้นจึงเป็นการเหมาะที่พอคนโดยสารขึ้นจากเรือก็ต่อรถเมล์ได้เลย
           ถึงปี พ.ศ. 2451 พระยาภักดีนรเศรษฐได้เปลี่ยนมาใช้รถยนต์ยี่ห้อฟอร์ดและทำที่นั่งเป็นสองแถว จึงได้เรียกว่ารถสองแถวต่อมาในสมัยแรกใช้ขึ้นลงทางท้ายรถ ภายหลังจึงดัดแปลงมาทำบันไดทางด้านข้าง นับเป็นรถเมล์ยุคใหม่ในสมัยนั้น

รถเมล์สองแถว
รถเมล์สองแถวบริเวณสนามหลวง

ที่มา: หนังสือ 100 รอยอดีต โดย ส. พลายน้อย สำนักพิมพ์สารคดี พ.ศ. 2545