เรื่องเล่ากรุงเทพฯ ในอดีต

กรุงเทพฯ ในอดีต

            เมื่อพระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช  ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี  ทรงสร้างกรุงเทพพระมหานครขึ้นนั้น  มีกำแพงพระนครและคูพระนครยาวเพียง 175 เส้นเศษ คือ 7 กิโลเมตร และมีเนื้อที่ในกำแพงพระนครเพียง 2,163 ไร่  ส่วนราษฎรในพระนครนั้น ก็มีเพียง 7 - 8 หมื่นคนเท่านั้น  แต่ปัจจุบัน กรุงเทพฯ มีพื้นที่มากกว่า 50 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรประมาณ 60 กว่าล้านคน

           ลองหลับตาวาดภาพสภาพของพระนครเมื่อสมัยนั้นดู แล้วเอามาเปรียบเทียบ กับกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ก็จะรู้สึกว่า แตกต่างกันอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในด้านพื้นที่หรือประชากร ไม่ต้องเอาไปเปรียบเทียบกับเมื่อตอนแรกที่สร้างพระนครหรอก เอากันเพียงแค่เมื่อประมาณ 100 กว่าปีมานี้ ก็จะเห็นความแตกต่างกันไกลิบทีเดียว

 
กรุงเทพฯ
ทุ่งพญาไท เมื่อ  80-90 ปีมาแล้ว ในภาพ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงดำนาใกล้ ๆ กับพระราชวังพญาไท ตรงที่เป็นโรงพยาบาลราชวิถีเดี๋ยวนี้



กรุงเทพฯ


คลองในกรุงเทพฯ  สมัยก่อน มีความสำคัญ ในฐานะเป็นทางคมนาคม ซึ่งมีสภาพไม่ต่างกับ ชนบทในสมัยนี้


         คนเกิดสมัยโน้น  ถ้ามาเกิดสมัยนี้ แล้วจำความได้ คงจะกลุ้มใจพิลึก ดีไม่ดี อาจะฆ่าตัวตายเอาง่าย ๆ  เพราะปรับตัวเองเข้ากับสังคมสมัยใหม่ไม่ได้นั่นเอง

           ตั้งแต่รัชกาลที่ 1  ถึงรัชกาลที่ 3  กรุงเทพฯ มีความสำคัญแค่ในกำแพงพระนครเท่านั้น ส่วนนอกกำแพงพระนคร เป็นชานเมือง ซึ่งมีสภาพเป็นชนบทที่เปล่าเปลี่ยว จะมีผู้คนอยู่อาศัยมากหน่อย ก็แต่ใกล้ ๆ  กำแพงพระนคาร พอห่างไกลออกมา ผู้คนก็น้อยลง  แม้แต่ในพระนครสมัยนั้น  บางแห่งก็ยังเป็นเรือกสวนอยู่เป็นส่วนมาก บางแห่งบางตบล ก็เป็นที่เปลี่ยวรกเรื้อยไปด้วยต้นไม้  และวัชพืช ยิ่งนอกกำแพงพระนครด้วยแล้ว ก็มีสภาพเป็นสวนครึ้มไปด้วยต้นไม้  ทั้งไม้ดอกไม้ผลนานาชนิด  ส่วนที่ห่างออกไป ก็เป็นท้องไร่ท้องนา และเป็นที่รกร้างว่างเปล่า

         การคมนาคม เฉพาะในพระนคร ปรากฏว่า  มีถนนเพียงไม่กี่สาย      ส่วนใหญ่เป็นทางเดิน แคบ ๆ  ที่เป็นดิน  หรืออย่างดีก็ปูด้วยอิฐเรียงตะแคง ไม่ใช่ถนนเหมือนอย่างเดี๋ยวนี้ มีถนนขนาดใหญ่หน่อย  แต่ก็ปูด้วยอิฐเหมือนกันเพียงสายเดียว  คือถนนรอบพระบรมมหาราชวัง  ด้วยเหตุนี้  เวลาฝนตกจึงเฉอะแฉะ  บางแห่งก็เป็นหลุมเป็นบ่อ มีน้ำขังนอง  แต่เวลาหน้าแล้ง ก็เต็มไปด้วยฝุ่น
             เนื่องจากสมัยนั้น มีแต่เกวียน และช้างม้าวัวควายเป็นพาหนะ  ความจำเป็นที่จะต้องสร้างถนนยังไม่มี  ถนนในพระนครจึงมีไม่มีมากนัก
            คนกรุงเทพฯ สมัยนั้น ไปไหนมาไหน ส่วนใหญ่ใช้เรือเป็นพาหนะ  ซึ่งก็มีความสะดวกสบายตามสภาพของสมัยนั้น  ด้วยเหตุนี้ บ้านเรือนและเรือแพ ที่อยู่อาศัย จึงมักจะปลูก หรือจอดอยู่กันริมคลอง และริมแม่น้ำทั้งในและนอกพระนคร เป็นส่วนมาก   เพราะนอกจากจะสะดวกในการคมนาคม ดังกล่าวแล้ว  ยังสะดวกในการใช้อาบน้ำชำระล้างและดื่มกินอีกด้วย
             พอถึงรัชกาลที่ 4  ความเจริญก็เริ่มขยายตัวออกไปนอกกำแพงพระนคร เช่น โปรดให้ขุดคลองผดุงกรุงเกษมกับคลองถนนตรง (คลองหัวลำโพง) เป็นต้น และโปรดให้สร้างถนนเจริญกรุงนอกกำแพงพะรนครต่อจากในพระนคร ไปจนถึงบางคอแหลม กับถนนตรง (พระรามที่ 4) เป็นต้น

กรุงเทพฯ
พระบรมมหาราชวัง ด้านวัดพระศรีรัตนศาสดาราม 
ในภาพเป็นกระบวนพยุหยาตราเลียบพระนคร สมัยรัชกาลที่ เมื่อ  พ.ศ.  2428
        ส่วนในพระนคร ก็โปรดให้สร้างถนนขึ้นอีก 2 สาย คือถนนบำรุงเมือง กับถนนเฟื่องนคร  สำหรับถนนเจริญกรุงนั้น เมื่อแรกสร้างใหม่ ๆ  ผู้คนพากันกล่าวว่า สร้างถนนใหญ่เกินไป  เพราะสมัยนั้น ผู้คนยังไม่มีมาก  รถราอะไรก็ไม่มีวิ่ง  ถนนเจริญกรุง จึงเปล่าเปลี่ยว  จะหาผู้คนเดินตามถนนไม่ค่อยจะได้  โดยเฉพาะถนนตอนนอกกำแพงพระนครด้วยแล้ว  ยิ่งไม่มีคนใหญ่
         เพื่อให้ทราบความคิดเห็นของคนในสมัยโน้น  เกี่ยวกับเรื่องถนนหนทาง และสภาพของถนนสมัยนั้นว่าเป็นอย่างไร จึงขอนำพระราชปรารภของ พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เกี่ยวกับเรื่องการสร้างถนนเจริญกรุงมาแสดงไว้ดังนี้
             "เสมือนหนึ่งถนนเจริญกรุง ฤๅจะเอาตามปากชาวเมืองว่า ถนนใหม่ ชาวต่างประเทศ เข้าชื่อกันขอให้ทำขึ้น เพื่อจะใช้ม้าใช้รถได้สบาย  ให้ถูกลมเย็นเส้นสายเหยียดยืดสบายดี  ผู้ครองแผ่นฝ่ายไทยเห็นชอบด้วย  จึงได้ยอมทำตามสร้างขึ้น
            ครั้นสร้างขึ้นแล้ว  คนใช้ม้าทั้งไทยทั้งชาวนอกประเทศกี่คนใช้รถอยู่กี่เล่ม ใช้ก็ไม่เต็มถนน ใช้อยู่แต่ข้างเดียว  ก็ส่วนถนนอีกข้างหนึ่ง ก็ทิ้งตั้งเปล่าอยู่ ไม่มีใครเดินม้าเดินรถเดินเท้า  ผู้ครองแผ่นดินฝ่ายไทย ทำถนนกว้างเสียค่าจ้างถมดิน ถมทรายเสียเปล่าไม่ใช่ฤๅ  ถ้าจะทำแต่แคบ ๆ  พอคนเดินได้ก็จะดี  แต่ซึ่งทำใหญ่ดังนี้  ก็เผื่อไว้ว่า เมื่อนานไปภายหน้า บ้านเมืองสมบูรณ์มีผู้คนมากมายขึ้น รถแลม้า แลคนจะเดินได้คล่องสะดวก จึงทำให้ใหญ่ไว้  แต่เดี๋ยวนี้ บ้านเมืองยังไม่เจริญทันใจ ครึ่งหนึ่งของถนน เพราะไม่มีคนเดินคนใช้ ก็ยังไปเสียก่อน  หากว่าปีนี้ไม่มีฝน  ถ้าฝนชุก ก็เห็นจะไปมาก ฤๅหญ้าก็จะขึ้นรกอยู่ข้างทาง  ให้เจ้าของบ้าน  เจ้าของเมืองเกณฑ์คนไทยไปถางก็ได้  แต่จะถางไปทำไม ก็เพราะแค่ครึ่งหนทาง  ที่เป็นทางเตียนอยู่เดี๋ยวนี้ ก็เป็นอนันพอแก่คนเดินอยู่แล้ว..."
           ในรัชกาลนี้  พระนครได้เจริญขึ้นกว่าแต่ก่อน  แต่ก็เป็นความเจริญที่แรกเริ่ม และในรัชกาลนี้  ไทยก็ได้มีความสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศมากขึ้น  ดังนั้น  อารยธรรมตะวันตก  จึงเริ่มมีบทบาทในประเทศไทยมาตั้งแต่บัดนั้น
      ในหนังสือ "ความทรงจำ" พะรนิพนธ์ของ สมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงกล่าวถึงการคมนาคมในสมัยปลายรัชกาลที่ 4 ต้นรัชกาลที่ 5  ว่า
           "การไปมาในกรุงเทพฯ  สมัยนั้น รถก็มีแต่ของหลวง  ยังใช้เรือกันเป็นพื้น บ้านคุณตา แม้จะอยู่ใกล้ถนนเจริญกรุง  ที่เชิงสะพานเหล็ก (ดำรงสถิตย์) ก็ยังต้องใช้เรือ เรือที่ใช้กันเป็นพาหนะ  สมัยนั้น ถ้าเป็นเจ้านายหรือเจ้าพระยา ใช้เรือสำป้นเก๋ง คนพายสัก 10 คน  ขุนนางชั้นรองลงมา เช่น คุณตา ใช้เรือสำปั้นประทุนคนพาย 6 คน 7 คน  ผู้อยู่บ้างห่างทางน้ำที่ต้องไปมาทางบก เจ้านายที่พระชันษามาก มักทรงเสลี่ยงหาม 4 คน แต่เจ้านายที่เป็นหนุ่ม ชอบทรงม้า  ถ้าเสด็จเข้าเฝ้า หรือเสด็จไปเวลามีการงาน มีตำรวจถือมัดหวายนำ 1 คน และมีคนเชิญพระกรด กับพวกมหาดเล็ก เิชิญพระเครื่องตามข้างหลังเป็นหมู่ ถ้าจะเป็นแต่เที่ยวเล่น ก็มีบริวารแต่น้อย  หรือทรงม้าไปแต่โดยลำพังเหมือนกับผู้อื่น
         จะกล่าวต่อไปถึงเรื่องพาหนะที่ใช้ทางบก
           ในสมัยนั้น  เมื่ื่อฉันยังเป็นเด็ก  ขุนนางผู้ใหญ่ชั้นเจ้าพระยา  และพระยาที่ได้พานทองเครื่องยศนั่งแคร่หาม 4 คน ที่เป็นพระยาชั้นรองลงมา ก็ขี่คานหาม (แต่มักเรียกกันว่าเปลญวน) หาม 2 คน  มีทหนายถือร่มกับหีบหมวก กาน้ำ ตามหลัง  ที่ยศต่ำกว่านั้น ก็ขี่ม้าหรือเดินตามความสามารถ"    
         สำหรับสภาพภายในกำแพงพระนครในสมัยโน้น เป็นอย่างไรนั้น ถ้าคนเกิดมาสมัยเดียวกัน ก็ต้องบอกว่ารุ่งเรืองดังเมืองสวรรค์  และวัดวาอารามในพระนคร ได้สร้างไว้อย่างหใญ่โตมโหฬาร และสวยงามวิจิตรพิสดารยิ่งนัก  แต่ทว่าสถานที่บางแห่ง ยังมีสภาพรกร้างว่างเปล่าอยู่ เช่น ที่ซึ่งเป็นวัดราชประดิษฐ์ฯ  ข้างวังสราญรมย์ในปัจจุบัน เดิมเป็นบ้านคน  แล้วเป็นสวนกาแฟของหลวง  ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 3  พอเลิกปลูกกาแฟ  สวนดังกล่าว ก็รกร้าง  ทั้ง ๆ  ที่สถานที่แห่งนี้  อยู่ห่างจากกำแพงพะบรมมหาราชวังเพียง 200 - 300 เมตร เท่านั้น




กรุงเทพฯ

ถนนบำรุงเมือง สมัยเมื่อแรกสร้าง นับว่าเป็น ถนนที่สำคัญที่สุดสายหนึ่ง ในกรุงเทพฯ ร้านค้าต่าง ส่วนใหญ่ในสมัยนั้น  ล้วนแต่อยู่ที่ถนนนี้ทั้งนั้น
 
กรุงเทพฯ
ป้อมพระสุเมรุ  อยู่มุมกำแพงพระนคร ด้านตะวันออกข้างเหนือ ใต้ปากคลอบางลำพู  ภาพนี้ถ่ายในรัชกาลที่ 5
        พอถึงรัชกาลที่ 4  พระบาทสมเด็จพระจอมกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้พระราชอุทิศ ถวายที่ดังกล่าว สร้างเป็นวัดราชประดิษฐ์ฯ  ตรงนั้น จึงได้หายรกร้างไปบ้าง
            ส่วนใกล้ ๆ  กันนั้น  คือสถานที่ที่เป็นวังสราญรมย์ในบัดนี้  เดิมเมื่อรัชกาลที่ 4 เป็นตึกดิน คือเป็นตึกปลูกให้ทหารอยู่เป็นสนามใหญ่ มีตึกแถวชั้นเดียวและสองชั้น ปลูกอยู่โดยรอบ  เนื่องจากบริเวณตึกดิน อยู่ติดกับสวนกาแฟนี่เอง  และถึงแม้ว่าบริเวณสวนกาแฟ จะได้สร้างเป็นวัดราชประดิษฐ์ฯ  แล้ว  แต่ก็คงจะยังมีบางส่วน รกร้างอยู่และเมื่อรกร้างเป็นป่าดงพงหญ้า ก็ไม่ต้องสงสัยว่าจะไม่มีสัตว์ป่าอยู่อาศัย
              เท่าที่ปรากฏใน  จดหมายเหตุโหร ของ จมื่นเก่งศิลป์  กล่าวไว้ในปูม ถึงสัตว์ป่าในบริเวณตึกดินว่า
      "เมื่อปีกุน จ.ศ. 1237 ( พ.ศ. 2418... ทหารที่รักษาตึกดินบอกว่า เสือบองเข้ามากินไก่  ทหารได้ตีเสือ"
     นี่ก็แสดงว่า ในสมัยเมื่อต้นรัชกาลที่ 5  บริเวณนั้นยังมีเสืออยู่....
     อย่า....อย่างเพิ่งตกใจ
               เสือที่ว่า ไม่ใช่เสือโคร่ง หรือเสือดาวที่ดุร้ายกินคน  แต่เป็นเสือบอง คือเสือตัวเล็ก ๆ  โตกว่าแมว  เล็กกว่าสุนัข  ซึ่งเป็นประเภทเสือปลา  กินเป็ดกินไก่กินปูกินปลาเท่านั้น  แต่ถึงกระนั้น ก็ทำให้เห็นภาพพจน์ว่า เมื่อมีเสือประเภทเสือปลาแล้ว  สัตว์ป่าเล็ก ๆ  ประเภทอื่นจะไม่มีหรือ ?
             แน่นอน พวกสัตว์เล็ก ๆ  ประเภทนกหนูและสัตว์เลื้อยคลาน  จะต้องมีด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย
             ปัญหาว่า สัตว์เหล่านี้มาจากไหน ?
             ถ้าจะให้สันนิษฐาน ก็ต้องเดาว่า มาตามแม่น้ำลำคลอง หรือไม่เช่นนั้น ก็สืบลูกสืบหลานมาตั้งแต่สมัยก่อน ๆ  เพราะเมื่อสมัยรัชกาลก่อน ๆ  ในพระนครยังมีเรือกสวนไร่นา ตลอดจนที่ว่างเปล่า ซึ่งรกร้างอยู่มาก แม้แต่สนามหลวง  ก็ยังมีการทำนากันมาจนกระทั่งถึงรัชกาลที่ 4      ส่วนใกล้ ๆ  ท้องสนามหลวง คือแถว ๆ  ที่ปัจจับันเป็นกระทรวงยุติธรรม  ก็เป็นคอกเลี้ยงวัวของแขกมาตั้งแต่รัชกาลที่ 2  และเมื่อย้ายจากบริเวณนั้น พวกแขก ก็มาตั้งคอกเลี้ยงวัวอย่แถวสี่แยกคอกวัวในปัจจุบัน ซึ่งชื่อสี่แยกนี้ ก็ได้มาจากคอกเลี้ยงวัวดังกล่าวนั่นเอง
         อนึ่ง ที่สะพานช้างโรงสี ซึ่งปัจจุบัน เป็นกระทรวงกลาโหม  ในต้นรัชกาลที่ 5 ปรากฏว่าฉางข้าวหลวง  ซึ่งมีอยู่  7  ฉาง และวังเจ้านายบริเวณนั้น ถูกทอดทิ้งให้ผุพัง มีต้นไม้ใหญ่และวัชพืชปกคลุม ครึ้มเป็นป่าไปจนะเกือบถึงศาลเจ้าพ่อหลักเมือง
             ก็เมื่อสภาพดังกล่าว อยู่กลางเมืองเช่นนี้  ถ้าเป็นคนสมัยนั้น ก็เห็นจะเป็นเรื่องธรรมดาเต็มที ในการที่เสือออกมาเพ่นพ่านกินไก่
             แต่สำหรับคนในสมัยปัจจุบัน ซึ่งเกิดในสมัยป่าคอนกรีต จะเห็นเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นอย่างมากทีเดียวในเรื่องดังกล่าว
             ส่วนสภาพนอกพระนคร  ก็เห็นจะไม่ต้องพูดถึงกันละ ว่าจะมีลักษณะเป็นป่าขนาดไหน
            แถวทุ่วพญาไท  ทุ่งบางกะปิ ทุ่ง แสนแสบ  ทุ่งบางซื่อ  เมื่อรัชกาลที่ 3  และต้นรัชกาลที่ 4  เคยเป็นที่อยู่อาศัยของช้าง  นอกจากมีช้าง เป็นโขลง ๆ  แล้ว ก็มีกวาง หมู่ป่า และลิงเป็นฝูง ๆ  อีกด้วย
            แถวพระโขนง  บางนา  ย่านนี้เืมื่อสมัยโน้นก็เป็นป่า  มีพวกสัตว์ป่าทั้งหลายเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะพวกจระเข้มีชุกชุมมาก ถึงกับปรากฏเป็นข่าวหนังสือพิมพ์ ที่ออกเมื่อรัชกาลที่  4  ว่า.....
             "คนลงอาบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แถว ๆ  บางนาเคยถูกจระเข้คาบไปกิน ก็มี"
            ปัจจุบันย่านดังกล่าว  ได้กลายเป็นแหล่งชุมนุมชนที่หนาแน่น  มีตกรามบ้านช่องเต็มไปหมด  พร้อมทั้งมีถนนหนทางซอกซอยมากมาย นับไม่ถ้วน
             แต่สิ่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ สมัยก่อนไม่เคยมี ก็คือสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ซึ่งกรุงเทพฯ ขณะนี้กำลังเผชิญอยู่  ทั้งจากควันปล่องโรงงาน  ควันจากท่อไอเสยของรถยนต์จำนวนเป็นแสน ๆ  คัน  และจากน้ำเสียของโรงงาน  ตลอดจนตามบ้านเรือน  ที่อยู่อาศัย  จำนวนมหาศาล
             แน่นอนทั้งอากาศ และน้ำในกรุงเทพฯ กับจังหวัดใกล้เคียง กำลังอยู่ในระยะที่เป็นอันตราย  ซึ่งสักวันหนึ่ง เราจะไม่เห็นนกในอากาศ แล้วก็จะไม่เห็นปลาในน้ำด้วย


กรุงเทพฯ
หอกลองที่สวนเจ้าเชตุ (กรมการรักษาดินแดน) ภาพนี้ถ่ายเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนที่จะทำการรื้อ

ที่มา :  กรุงเทพฯ ในอดีต  โดย  เทพชู  ทับทอง  สนพ. สุขภาพใจ