เรื่องเล่าท่าเตียน


เรื่องเล่าท่าเตียน

            มีนิทานที่ชาวบ้านเล่าไว้ว่า ครั้งหนึ่งยักษ์วัดแจ้งกับยักษ์วัดโพธิ์ (ยักษ์ไทยที่เฝ้าประตูวัด ไม่ใช่ยักษ์จีน) เกิดทะเลาะวิวาทกัน ยักษ์วัดแจ้งยกพวกข้ามฟากมาตีกับยักษ์วัดโพธิ์ที่ตรงบริเวณท่าเตียนในปัจจุบัน จึงทำให้บริเวณนั้นราบเตียนโล่งไป
            แต่ความเป็นจริงแล้ว ในบริเวณนั้นเรียกว่า “ท่าเตียน” ในสมัยรัชกาลที่ 4  เรื่องมีอยู่ว่า ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น พระองค์ได้มีรับสั่งให้ปลูกโรงใหญ่ ๆ รวม 8 หลัง (โรง ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ว่า น. สิ่งปลูกสร้างที่มีหลังคาคลุม ปรกติพื้นอยู่ติดกับดิน สำหรับเป็นที่อยู่อาศัย ประกอบการ หรือไว้สิ่งของเป็นต้น เช่น โรงลิเก โรงทอผ้า โรงเหล้า โรงรถ โรงพิมพ์, ลักษณนามว่า โรง เช่น ลิเกโรงหนึ่ง โรงทอผ้า 2 โรง) ไว้ริมน้ำสำหรับเก็บเรือรบศีรษะมีดโกน คือปลูกตั้งแต่หน้าวัดโพธิ์ขึ้นไปจนท้ายประตูแดง ที่ใกล้ ๆ ริม ๆ โรงเรือ 8 หลังนั้น พระองค์มีรับสั่งห้ามปลูกเหย้าเรือนอยู่ใกล้โรงเรือเป็นอันขาด เพราะเกรงจะเป็นเชื้อไฟ ที่นั้นจึงมีแต่โรงเรืออยู่โดดเดี่ยว ไม่มีบ้านเรือนหนาแน่นเหมือนที่อื่น ๆ


ยักษ์วัดโพธิ์
ซุ้มประตูมณฑป เป็นที่ตั้งของรูปปั้นยักษ์ทวารบาลยืนคู่กัน 2 ตน ชาวบ้านเรียกว่า ยักษ์วัดโพธิ์
ยักษ์วัดแจ้ง
รูปปั้นยักษ์ทวารบาล 2 ตน ประจำซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถวัดอรุณราชวรารามหรือวัดแจ้ง ที่ตำนานกล่าวขานว่าไปทะเลาะกับยักษ์วัดโพธิ

 
          ครั้นถึงรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้เจ้าพระยามหาเสนาบุนนาค รื้อโรงเรือ 8 หลังนี้ไปปลูกที่บางละมุดแขวงเมืองนนทบุรี แล้วถอยเอาเรือรบทั้งหมดไปไว้ในโรงเรือบางละมุด ครั้นรื้อโรงเรือแล้วจึงโปรดให้เจ้าพระยามหาเสนาบุนนาค ซึ่งเป็นตาของพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเศวตฉัตร (ในรัชกาลที่ 2 ทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่นสุรินทรรักษ์ทรงกำกับกรมพระนครบาล กรมท่า และกรมมหาดไทย ในโอกาสต่างกัน) ทำที่นั้นเป็นวัง ในที่บางแห่งกล่าวว่าได้พระราชทานวังนั้นแก่พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าเศวตฉัตร แต่ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 26 กล่าวว่าในรัชกาลที่ 1 นั้นโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังท่าเตียนพระราชทานสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ พระโอรสพระองค์น้อยของสมเด็จพระพี่นางพระองค์น้อย เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ประทับอยู่วังนี้จนในรัชกาลที่ 3 ย้ายไปประทับที่วังสวนมังคุด (ฝั่งธนบุรี) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานวังท่าเตียนให้กรมหมื่นสุรินทรรักษ์พระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ 1 ประทับต่อมาจนสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2373
         ครั้นถึงรัชกาลที่ 4 ได้เกิดเพลิงไหม้ที่วังกรมหมื่นสุรินทรรักษ์จนหมดสิ้น ในบริเวณนั้นตั้งแต่เขตพระบรมมหาราชวังลงไปจนถึงเขตวัดโพธิ์ เมื่อแรกสร้างกรุงเทพฯ ก็เป็นบ้านเสนาบดีอยู่กันเป็นส่วนมาก เช่น บ้านเจ้าพระยารัตนาพิพิธที่สมุหนายก แล้วก็บ้านเจ้าพระยามหาเสนาบุนนาค เมื่อเกิดไฟไหม้ครั้งนั้นคงจะลุกลามเผลาผลาญบ้านเรือนไปมากมาย  ดังในพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงพระยามนตรีสุริยวงศ์ และคณะทูตที่ไปอังกฤษ ใจความบางตอนว่า "ในวันพฤหัสบดี ขึ้น 3 ค่ำ เดือนอ้าย เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่โรงของพระองค์เจ้ามหาหงส์ในกรมหมื่นสุรินทรรักษ์ เพราะที่นั่นเย่าเรือนกระท่อมห้อมหอรุงรังมากและทางคับแคบนัก หามีใครในบ้านเรือนพวกนั้นช่วยกันดับไม่ มีแต่ขนของ คนจะเข้าช่วยดับก็ไม่มี ทางคับแคบนัก จนคนในบ้านออกไม่ได้ตายในไฟคนหนึ่ง เรือนหม่อมเจ้าในวังกรมหมื่นสุรินทรรักษ์และเรือนข้าราชการที่ใกล้เคียงติดหมู่บ้าน และโรงงานของนายด้านทำการในพระราชวังนี้ และด้านทำการในวัดพระเชตุพนติดพันกับวังนั้นก็ไหม้เสียหมด ครั้งนี้ลมพัดป่วนไปมาหวนกำแพง เพลิงไหม้ร้อนแรงนักคนเข้าตัดทางก็ไม่ได้ ไฟไหม้มาข้างบนจนกำแพงโรงไหมใกล้พระคลังสินค้าข้างล่างไหม้ลงไปจนตพานฉนวนวัดพระเชตุพน คนที่ไปดับตั้งรับอยู่ที่นั้นได้ช่วยกันเยื้อแย่งสกัดไว้ เพลิงจึงหยุดเพียงนั้น การเป็นอันน่ากลัวนัก ที่ป้อมภูผาสุทัศน์เพราะเพลิงไหม้ใกล้ป้อมจนหลังคาร้อนเป็นควัน ฯลฯ เรือนหม่อมเจ้าในกรมหมื่นสุรินทรรักษ์ 28 หลัง โรงพระองค์เจ้ามหาหงส์ 3 หลัง เรือน 13 หลัง เรือนข้าราชการและราษฎร 44 หลัง ศาลาวัดสองหลังครึ่ง โรงงานของในหลวง 9 โรง ประตูท่าช้างล่าง 1...ตัวไม้ในโรงงานนั้นเป็นของจะทำที่อยู่ข้าพเจ้าและพระอารามหลวง ไหม้เสียหมด ถ้าจะคิดเป็นไม้ต้นก็มากกว่าร้อยต้น ฯลฯ..."  จึงเป็นที่มาของ "ท่าเตียน" 


ท่าเตียน
ภาพนี้ถ่ายจากพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม มองข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจะเห็นชุมชนย่านท่าเตียนในสมัยรัชกาลที่ 4 มีลักษณะเรือนไม้เครื่องผูก ซึ่งง่ายต่อการเป็นเชื้อของเพลงไหม้
          ในวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ตอนหนึ่งบอกว่า “ท่าเตียน” น่าจะมาจาก "ฮาเตียน" เมืองท่าแห่งหนึ่งในตอนใต้ของประเทศเวียดนาม (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดเกียนซาง ในต้นกรุงรัตนโกสินทร์เป็นดินแดนของไทย ในชื่อ บันทายมาศ หรือ พุทไธมาศ) เนื่องจากแถบนี้ในอดีตเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวญวนอพยพหนีภัยสงครามจากเว้ ตั้งแต่ยุคกรุงธนบุรี ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และชาวญวนเหล่านี้ได้เรียกชื่อถิ่นฐานนี้ว่าฮาเตียน เนื่องจากมีภูมิทัศน์คล้ายกับฮาเตียนเพื่อคลายความคิดถึงถิ่นฐานตนเอง และได้เรียกเพี้ยนมาเป็นท่าเตียนในที่สุด แต่ทั้งนี้ท่าเตียนปรากฏมาตั้งแต่อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา โดยปรากฏหลักฐานเป็นนิราศของหม่อมพิมเสนเรียกว่า "บางจีน" สันนิษฐานว่าอาจเคยเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวจีนด้วย

ที่มา:  1.  หนังสือ "เล่าเรื่องบางกอก ฉบับสมบูรณ์" ของ ส. พลายน้อย สำนักพิมพ์พิมพ์คำ
                                                                       2.  วิกิพีเดีย  สารานุกรมเสรี