เรื่องเล่าการใช้ธนบัตรในประเทศไทย

การใช้ธนบัตร

         เมื่อ พ.ศ. 2396 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำหมายขึ้นใช้แทนเงิน หมาย เป็นกระดาษสีขาว มีหลายราคา ตั้งแต่ 3 ตำลึง 4 ตำลึง 6 ตำลึง ต่ำกว่านี้ลงไปก็มี 1 เฟื้อง 1 สลึง สลึงเฟื้อง 2 สลึง ฯลฯ มีพระราชลัญจกรประจำรัชกาลและตราอื่น ๆ ประทับเป็นหลักฐาน บางชนิดบอกราคาไว้ตอนกลางว่า "ใช้สี่ตำลึงให้แก่ผู้เอาหมายนี้มาให้ เก็บหมายนี้ไว้ทรัพย์จักไม่สูญเลย" นอกจากหมายแล้วก็ยังมี ใบพระราชทานเงินตรา อีกอย่างหนึ่ง แต่ดูจะใช้ในวงจำกัดกว่าหมาย


หมาย
หมายที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2396
          ครั้งนถึงรัชกาลที่ 5 ได้เปลี่ยนเรียกใบพระราชทานเงินตราเป็นใบ พระบรมราชโองการ และเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2417 ก็มีประกาศโปรดเกล้าฯ ให้ใช้อัฐกระดาษแทนอัฐดีบุกขึ้นอีกอย่างหนึ่ง


อัฐ
อัฐที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2417
          ต่อมารัฐบาลได้เริ่มออกใช้ธนบัตรในวันที่ 19 กันยายน ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2445) ในรัชกาลที่ 5 ได้สั่งทำจากบริษัทโทมัส เดอลา รู จำกัด ธนบัตรรุ่นแรกนี้มีหน้าเดียว ราคาตั้งแต่ 5 บาท 10 บาท 20 บาท 100 บาท และ 1,000 บาท ส่วนชนิดราคา 1 บาท ประกาศใช้เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2461


ธนบัตรรุ่นแรก
ธนบัตรรุ่นแรกในรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2445
     ในปัจจุบันรัฐบาลไทยได้ตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรขึ้นเอง เพื่อไม่ต้องสั่งทำจากต่างประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้จัดซื้อที่ดินตรงข้ากับสำนักงานของธนาคารที่บางขุนพรหมด้านติดแม่น้ำเจ้าพระยา มีเนื้อที่ 11 ไร่ 35 ตารางวา เมื่อ พ.ศ. 2505 ได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารโรงพิมพ์ธนบัตร เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2507  เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้กราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดโรงพิมพ์ธนบัตรเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2512 ซึ่งในวันที่ 24 มิถุนายนนี้เป็นวันประกาศพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้ตราพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม รัตนโกสินทร์ศก 121 เป็นวันมงคลฤกษ์


ที่มา: หนังสือ 100 รอยอดีต โดย ส. พลายน้อย สำนักพิมพ์สารคดี พ.ศ. 2545