เรื่องเล่าฝาแฝดอิน-จัน

ฝาแฝดอิน-จัน

ฝาดแฝดอิน-จัน
ฝาแฝดอิน-จันกับบุตรชายหญิงที่สหรัฐอเมริกา
          เมื่อในรัชกาลที่ 2 มีผัวเมียคู่หนึ่งอยู่ที่แหลมใหญ่ ปากแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ผัวเป็นจีนชื่อทีอาย เมียเป็นไทยชื่อนาค เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2354 นางนาคคลอดบุตรชายออกมาสองคนมีหน้าอกประกบกัน ด้วยมีสายเอ็นออกมาจากตัวระหว่างสะดือกับหน้าอก บิดามารดาให้ชื่อว่า อินคนหนึ่ง จันคนหนึ่ง ตามชื่อผลไม้ที่มีผลคล้ายกัน ต่างกันที่สี เด็กแฝดติดกันคู่นี้นับเป็นคู่แรกของโลก พออิน-จันอายุได้ 8 ขวบ บิดาตาย ทั้งสองจึงต้องช่วยแม่ค้าขายและเลี้ยงเป็ด ต่อมาใน พ.ศ. 2367 นายโรเบิร์ต  ฮันเตอร์ พ่อค้าอังกฤษที่มาตั้งห้างค้าขายอยู่ที่กุฎีจีีน ได้ไปพบอิน-จันก่อนฝรั่งคนอื่น ๆ
          ครั้นถึง พ.ศ. 2371 ในรัชกาลที่ 3 ได้มีเรือกำปั่นอเมริกันลำหนึ่งชื่อ Schem เข้ามาเมืองไทย นายเรือชื่อกัปตันคอฟฟิน (Captain coffin) กับตันคอฟฟินทราบเรื่องฝาแฝดอิน-จัน จึงให้นายโรเบิร์ต  ฮันเตอร์ ช่วยเจรจาให้ ได้ตกลงกับนางนาคว่า กับตันคอฟฟินจะพาอิน-จันไปอเมริกาได้ 3 ปี โดยจ่ายเงินล่วงหน้าให้นางนาค 1,600 บาท (ประมาณ 706 เหรียญทอง) และเมื่อครบ 3 ปีแล้วจะพาเด็กมาส่ง เมื่ออิน-จันไปอเมริกานั้นอายุได้ 16-17 ปี นับเป็นคนไทยคนแรก (คู่แรก) ที่ได้ไปถึงอเมริกา คำ Siamese Twins จึงได้เกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งนั้น
          หลังจากตระเวนแสดงให้คนดูอยู่หลายปี ได้เงินแบ่งกันมากมาย จนอายุอิน-จันได้ 21 ปี ก็หมดสัญญากับคอฟฟิน ออกเที่ยวแสดงให้คนดูจนทั่วอเมริกาได้ราว 8 ปี มีเงินมากจึงซื้อที่ดินตอนเหนือของรัฐนอร์ทคาโรไลนาประมาณ 275 ไร่ ปลูกบ้านอยู่ ต่อมาได้แต่งงานกับสองพี่น้องชาวอเมริกัน อินแต่งกับ Sally Yates คนพี่ จันแต่งกับ Addie  Yates คนน้อง ปลูกบ้านอยู่คนละหลัง ผลัดกันอยู่บ้านละ 3 วัน อินกับ Sally  Yates มีลูกชายเจ็ดคน หญิงห้าคน  จันกับ Addie  Yates มีลูกชายเจ็ดคน หญิงสามคน (บางแห่งว่า มี 21 คน)  ครั้นถึงวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2417 (ค.ศ. 1874) สิริรวมอายุ 63 ปี จันเป็นไข้หวัดถึงแก่กรรม อีกสองชั่วโมงต่อมา อินก็ถึงแก่กรรมตามไปด้วย
          อิน-จันใช้นามสกุลว่า บังเกอร์ (Bunker)  ผู้สืบสกุลต่อมาในชั้นหลานและเหลนเป็นคนมีชื่อเสียงในอเมริกาหลายคน เช่น เป็นประธานของบริษัทยูเนียนปาซิฟิกเรลโรด  เป็นนายพลอากาศโทในกองทัพอากาศของสหรัฐอเมริกาก็มี
          ฝาแฝดติดกันที่หน้าอกอีกคู่หนึ่งของไทยคือ นภิศ-ปริศนา ทั้งสองเป็นบุตรของนายบุญหนันและนางชวน  ผลภิญโญ อยู่ที่ตำบลหัวเวียง อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ตามบันทึกของนายแพทย์ผู้หนึ่งกล่าวว่า พ่อของเด็กเป็น "หมอตำแย" เอง ในระยะแรกอยู่ที่โรงพยาบาลขอนแก่น ต่อมาส่งมาอยู่โรงพยาบาลหญิง กรุงเทพฯ แล้วส่งไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลชิคาโก เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2498 ขณะที่มีอายุได้ 1 ปี 10 เดือน 5 วัน Dr. Dragstadt เป็นผู้ทำการผ่าตัด เมื่อทั้งคู่หายเป็นปกติแล้ว ได้เดินทางกลับมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2498 และยังอยู่ที่โรงพยาบาลหญิง หลังจากนั้นมีหญิงหม้ายชาวอเมริกันมาขอไปเลี้ยงทั้งสองคน นับว่า นภิศ-ปริศนาเป็นฝาแฝดไทยคู่แรกที่ผ่าตัดได้สำเร็จ

นภิศ-ปริศนา
เด็กหญิงนภิศ-ปริศนา ฝาแฝดสยามคู่แรกที่ผ่าตัดแยกจากกันได้สำเร็จ