เรื่องเล่าการตั้งธนาคารในประเทศไทย

การตั้งธนาคารในประเทศไทย

      กิจการธนาคารในประเทศไทยเริ่มมีขึ้นในรัชกาลที่ 5 แต่เป็นธนาคารของชาวต่างประเทศทั้งหมด เช่น ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ (พ.ศ. 2431) ธนาคารอินโดจีน (พ.ศ. 2439) เป็นต้น ต่อมาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติพระองค์แรก ทรงดำริทดลองตั้งสำนักงานขึ้นดำเนินกิจการแบบธนาคารทุกประการ แต่โดยเหตุที่ยังไม่แน่พระทัยว่าจะมีคนนิยม จึงไม่ได้ใช้ชื่อว่าเป็นธนาคาร แต่ใช้ชื่อว่า บัคคลัภย์ (Book Club)  ได้เปิดกิจการเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ร.ศ. 123 (พ.ศ.2447) สำนักงานอยู่ที่ตึกมุมสีแยกบ้านหม้อ

ที่ทำการธนาคารไทยแห่งแรก
ที่ทำการบริษัทแบงค์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด ธนาคารไทยแห่งแรก
          หลังจากดำเนินกิจการอยู่ปีเศษมีคนนิยมมากขึ้น จึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลขอจัดตั้งธนาคารโดยการขายหุ้น ปรากฏว่ามีผู้ซื้อหุ้นตามจำนวนที่กำหนดไว้จนหมด จึงได้ดำเนินการขอจดทะเบียนต่อเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ โดยตั้งเป็นธนาคารรูปบริษัทจำกัด ให้ชื่อว่า บริษัทแบงค์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด  เมื่อ 30 มกราคม พ.ศ. 2449 ซึ่งต่อมาในปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็น "ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด" เมื่อ 27 มกราคม พ.ศ. 2482
          ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศ พ.ศ. 2485 ขึ้นเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2485 กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีหน้าที่ควบคุมประมาณเงินและปริมาณเครดิตของประเทศ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นพระองค์แรก (เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย)
          ทางด้านธนาคารออมสิน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติคลังออมสิน พ.ศ. 2456 ขึ้น และประกาศใช้พระราชบัญญัติตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2456 เป็นต้นมา ที่ทำการคลังออมสินแห่งแรกได้เปิดที่กรมพระคลังมหาสมบัติในพระบรมมหาราชวัง และต่อมาเปิดที่กรมศุลกากรอีกแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ได้เปิดที่ทำการขึ้น ณ ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขบางแห่ง ส่วนต่างจังหวัดก็เปิดที่ทำการขึ้นที่คลังจังหวัดทุกจังหวัด


ที่มา: หนังสือ 100 รอยอดีต โดย ส. พลายน้อย สำนักพิมพ์สารคดี พ.ศ. 2545